ประเภทของดิน...
     
.....
 
ประเภทของดิน แบ่งตามสภาพพื้นที่
     
  ดินที่ลุ่ม  หรือที่เรียกกันว่า ดินนา คือ ดินที่เกิดในบริเวณพื้นที่ต่ำ สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบ ส่วนใหญ่พบเป็นบริเวณกว้างในภาคกลางและตามที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการทำนา และมักมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ในช่วงฤดูฝน
 

     
  ดินที่ดอน หรือ ดินไร่ คือ ดินที่พบอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชัน สภาพพื้นที่อาจเป็นที่ราบ ที่ลาดเชิงเขา หรือเป็นลูกคลื่น มีการระบายน้ำดี โดยทั่วไปจะไม่มีการขังน้ำเมื่อฝนตก พบอยู่ทั่วไปในภูมิภาคต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นอื่นๆ
     
ประเภทของดิน แบ่งตามความลึกของดิน
 
ความลึกของดิน (effective soil depth) หมายถึงความหนาของดินนับจากชั้นผิวดินลงไปจนถึงชั้นดินที่ขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือการชอนไชของรากพืช เช่น ชั้นหินพื้น ชั้นดาน ชั้นเศษหิน ชั้นกรวด หรือชั้นลูกรัง เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้รากพืชชะงักงัน ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ
โดยทั่วไปดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกควรมีความลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ขึ้นไป

     
 

ดินตื้นมาก คือ ดินที่มีความหนาไม่เกิน 25 เซนติเมตร นับจากผิวหน้าดินลงไป


 

ดินตื้น คือ ดินที่มีความหนาตั้งแต่ 25-50 เซนติเมตร นับจากผิวหน้าดิน


 

ดินลึกปานกลาง คือ ดินที่มีหนาตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตร นับจากผิวหน้าดิน


 

ดินลึก-ลึกมาก คือ ดินที่มีความหนามากกว่า 100 เซนติเมตร นับจากผิวหน้าดินลงไป

     
ประเภทของดิน แบ่งตามวัสดุที่เป็นองค์ประกอบในดิน
     
  ดินอนินทรีย์ ดินที่พบอยู่ทั่วๆ ไปมักจะเป็น ดินอนินทรีย์ (mineral soils) คือเป็นดินที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นอนินทรียสารที่ได้มาจากการผุพังสลายตัวของหิน แร่ ผสมคลุกเคล้าอยู่กับอินทรียวัตถุ ปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ
 

     
  ดินอินทรีย์ ดินที่เกิดในสภาพป่าพรุ หรือสภาพที่มีน้ำแช่ขังเป็นระยะเวลายาวนานมีพืชชอบน้ำขึ้นอยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์ต่างๆ ทำให้เกิดการทับถม และสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นชั้นดินอินทรีย์ หรือชั้น O ขึ้น และเมื่อมีการทับถมมากขึ้นเรื่อย ดินนี้จะกลายเป็นดินอินทรีย์ในที่สุด
 

หลักในการพิจารณาว่า ดินชนิดไหนเป็นดินอนินทรีย์ หรือดินอินทรีย์นั้น ได้มีข้อตกลงกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ทางดิน โดยให้ถือว่า ดินที่มีคาร์บอนอินทรีย์มากกว่าร้อย 20 โดยน้ำหนัก และมีชั้นดิน O เกิดเป็นชั้นหนามากกว่า 40 ซม. นั้น ให้เรียกว่า “ดินอินทรีย์” ส่วนดินที่มีคาร์บอนอินทรีย์ น้อยกว่า 20 % โดยน้ำหนัก เรียกว่า “ดินอนินทรีย์”

 

 
ประเภทของดิน แบ่งตามพัฒนาการ
     
  ดินมีพัฒนาการน้อย หมายถึง ดินที่ประกอบด้วยชั้นดินบน (A) และชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน (C)

     
  ดินมีพัฒนาการมาก ดินที่ประกอบด้วยชั้นชั้นดินบน (A) ชั้นดินล่างที่แสดงการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจากกระบวนการทางดิน (B) และชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน (C)
     
ประเภทของดิน แบ่งตามเนื้อดิน (ดินร่วน-ดินเหนียว-ดินทราย)
     
  ดินเหนียว เป็นดินที่มีเนื้อละเอียด ในสภาพดินแห้งจะแตกออกเป็นก้อนแข็งมาก เมื่อเปียกน้ำแล้วจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้ เหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี แต่สามารถอุ้มน้ำ ดูดยึด และแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้ดี เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน
     

     
  ดินร่วน เป็นดินที่เนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ในสภาพดินชื้นจะยืดหยุ่นได้บ้าง เมื่อสัมผัสหรือคลึงดินจะรู้สึกนุ่มมือแต่อาจจะรู้สึกสากมืออยู่บ้างเล็กน้อย เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายมือออก ดินจะจับกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก
 

     
 

ดินทราย เป็นดินที่มีอนุภาคขนาดทรายเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่าร้อยละ 85 เนื้อดินมีการเกาะตัวกันหลวมๆ มองเห็นเป็นเม็ดเดี่ยวๆ ได้ ถ้าสัมผัสดินที่อยู่ในสภาพแห้งจะรู้สึกสากมือ เมื่อลองกำดินที่แห้งนี้ไว้ในอุ้งมือแล้วคลายมือออกดินก็จะแตกออกจากกันได้ แต่ถ้ากำดินที่อยู่ในสภาพชื้นจะสามารถทำให้เป็นก้อนหลวมๆ ได้ แต่พอสัมผัสจะแตกออกจากกันทันที

ดินทราย เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศดีมาก แต่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเพราะความสามารถในการดูดยึดธาตุอาหารพืชมีน้อย พืชที่ขึ้นบนดินทรายจึงมักขาดทั้งธาตุอาหารและน้ำ

     
ประเภทของดิน แบ่งตามสมบัติ (ดินดี-ดินไม่ดี)
     
  ดินดี ในทางการเกษตรหมายถึง ดินที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช ปริมาณอนินทรียวัตถุ อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศ ในสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถปลูกพืชได้โดยใช้วิธีการจัดการดูแลตามปกติธรรมดาที่ไม่ยุ่งยาก มักจะมีหน้าดินสีดำหนา มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูง ไม่มีสารที่เป็นพิษต่อพืช มีปฏิกิริยาดินใกล้เป็นกลาง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5.5-7.0 และไม่มีชั้นที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืช
 

 
  ดินไม่ดี หรือ ดินเลว คือ ดินที่มีสมบัติทางกายภาพและเคมีไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมน้อยสำหรับการเพาะปลูก ส่งผลให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตตามปกติได
ถ้าหากว่าจำเป็นต้องใช้ดินเหล่านี้ในการเพาะปลูกพืช ก็ต้องมีการจัดการแก้ไขให้เหมาะสมเสียก่อน
 

 

อย่างไรก็ตาม การที่จะบอกได้ว่าพื้นที่ใดเป็นดินดีหรือไม่นั้น ยังต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่จะปลูกในบริเวณนั้นด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก พืชแต่ละชนิดมีความต้องการสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ข้าว เป็นพืชที่ชอบน้ำ ดังนั้นดินดีที่เหมาะสมสำหรับข้าวจึงควรเป็นดินในพื้นที่ลุ่ม เนื้อดินเป็นดินเหนียวที่มีการระบายน้ำเลว ซึ่งจะช่วยให้สามารถขังน้ำไว้ในนาข้าวได้ แต่ถ้าต้องการปลูกพืชไร่หรือผลไม้ ดินที่ดีสำหรับพืชพวกนี้ควรเป็นดินลึก มีหน้าดินหนา เนื้อดินเป็นพวกดินร่วนหรือพวกที่มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้รากพืชสามารถชอนไชลงไปในดินได้ลึก สามารถต้านทานแรงลมได้ดี เป็นต้น

 

     
 
อ่านต่อ >>
กำเนิดของดิน
ดิน..คืออะไร
ดิน..สำคัญอย่างไร
โลกของเรามีดินอยู่มากน้อยแค่ไหน
ส่วนประกอบของ..ดิน
ปัจจัยที่ควบคุมการสร้างดิน
ลักษณะและสมบัติของดิน
แนวทางการศึกษาเกี่ยวกับดิน
เขาสำรวจดิน..กันอย่างไร
ดินของประเทศไทย
แผนที่ดินและการใช้ประโยชน์
ประเภทของดิน
ดินที่มีปัญหาทางการเกษตร
แหล่งข้อมูล..ที่น่าสนใจ
 
....
   กลับหน้าหลัก
:: สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน   กรมพัฒนาที่ดิน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ::   
๒๐๐๓/๖๑  ถนนพหลโยธิน  เขตจตุจักร  กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐

โทร. ๐๒๕๖๒ ๕๑๐๐ ต่อ ๑๓๖๗, ๑๓๓๙