1. การศึกษาข้อมูลเบื้องต้น
|
|
|
การศึกษาเบื้องต้น เป็นขั้นแรกของการดำเนินงานสำรวจจำแนกดิน
โดยปกติจะทำเพื่อตรวจสอบข้อมูลข้อสนเทศที่รวบรวมไว้แล้ว
และหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้เห็นภาพอย่างกว้างๆ
ของดินและความสัมพันธ์ของดินกับสภาพภูมิประเทศ
วัตถุต้นกำเนิดดินและลักษณะอื่นๆ รวมถึงความสัมพันธ์ทั่วๆ
ไป ระหว่างดินชนิดต่างๆ กับการใช้ที่ดิน สำหรับความละเอียดหรือความหยาบของการศึกษาเบื้องต้นนี้
จะขึ้นอยู่กับข้อสนเทศที่มีอยู่และความจำเป็นในการใช้ข้อมูลต่างๆ
เพื่อเตรียมแผนการดำเนินงาน และเพื่อวางโครงร่างการทำแผนที่กับกิจกรรมอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนที่ ถึงแม้ว่าจะเป็นการสำรวจดินในบริเวณที่เคยมีการสำรวจดินมาก่อนแล้ว
นักสำรวจดินก็ยังจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ
ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาดินในภาคสนาม |
|
|
2. การตรวจสอบดินในสนาม |
จุดประสงค์ของการสำรวจดินในสนามก็เพื่อศึกษาลักษณะต่างๆ
ของดิน เพื่อที่จะแบ่งแยกขอบเขตดินออกเป็นหน่วยต่างๆ
ตามวัตถุประสงค์หลังจากที่ได้ทราบความสัมพันธ์ต่างๆ
ขอดิน และสภาพภูมิประเทศเรียบร้อยตั้งแต่การศึกษาเบื้องต้นแล้ว
ขั้นตอนต่อไปในการสำรวจดิน คือ การสำรวจในพื้นที่หรือการสำรวจภาคสนาม
ซึ่งประกอบด้วยงานหลายอย่างที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม
วิธีการที่ดีที่สุดในการตรวจสอบลักษณะดินในสนาม
คือ การศึกษาลักษณะดินจากหลุมดินที่เพิ่งขุดใหม่ๆ
หรือศึกษาจากหน้าตัดดิน ซึ่งจะแสดงให้เป็นถึงความแตกต่างที่มีอยู่ภายในดิน
เช่น สีดิน เนื้อดิน ชนิดของวัสดุหรือสิ่งที่ปะปนอยู่ในดินและการจัดเรียงชั้นดินในหน้าตัดดินได้อย่างชัดเจน
นักสำรวจดินจะศึกษาลักษณะและสมบัติต่างๆ
ของดินในช่วงความลึกตั้งแต่ผิวหน้าดินลงไปประมาณ
2 เมตร โดยจะตรวจสอบและบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดในเรื่องต่างๆ
เช่น ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของจุดที่ทำการศึกษาสภาพพื้นที่
และข้อมูลทั่วไปอื่นๆ และลักษณะของดินอย่างละเอียด
พร้อมทั้งทดสอบสมบัติของดินบางประการตามที่กำหนด
เช่น ชั้นดิน ความลึก สีดิน โครงสร้างของดิน
ความเป็นกรดเป็นด่าง และเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
รวมถึงการจำแนกชนิดของดินเบื้องต้นและการทำแผนที่ต้นร่าง
|
|
|
|
3. การวิเคราะห์ตัวอย่างดินในห้องปฏิบัติการ |
แม้ว่าเราจะทำการศึกษาตรวจสอบดินในพื้นที่อย่างละเอียด
เพื่อรวบรวมลักษณะและสมบัติต่างๆ ของดินให้ได้มากที่สุด
แต่ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการจัดจำแนกดินบางอย่างนั้น
ไม่อาจได้มาโดยการศึกษาจากลักษณะที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่
หรือใช้วิธีการตรวจสอบด้วยอุปกรณ์ภาคสนามได้แต่เพียงอย่างเดียว
เนื่องจากมีสมบัติภายในของดินบางอย่างที่เราไม่สามารถมองเห็นหรือตรวจสอบได้
จึงจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างดินบางส่วนกลับมายังห้องปฏิบัติการ
และนำไปตรวจวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือและวิธีการตามมาตรฐานสากล
เพื่อที่จะนำผลที่ได้มาใช้ในการจัดจำแนกและประเมินศักยภาพของดินนั้นๆ
ตัวอย่างของการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาสมบัติต่างๆ
ของดิน ได้แก่ |
|
- การตรวจหาปริมาณของอนุภาคขนาดต่างๆ ได้แก่
ทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว เพื่อให้ทราบสัดส่วนของอนุภาคขนาดต่างๆ
สำหรับใช้ในการจำแนกชนิดของเนื้อดิน
- การตรวจวิเคราะห์ชนิดและปริมาณของแร่ดินเหนียว
- การวิเคราะห์ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
- การวิเคราะห์ปริมาณธาตุประจุบวก เช่น แคลเซียม
โซเดียม ในสารละลายดินและความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวกขอดิน
- การวิเคราะห์ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน
ฯลฯ
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาลักษณะดินในพื้นที่
ประกอบกับข้อมูลผลการตรวจสอบสมบัติทางกายภาพและเคมีของดินในห้องปฏิบัติการ
จะทำให้เราสามารถแบ่งชนิดของดินออกเป็นกลุ่มและจัดหมวดหมู่ดินตามระบบการจำแนกดินแบบอนุกรมวิธานดินได้
ตั้งแต่ระดับใหญ่ที่สุดคือ อันดับ จนถึงระดับเล็กที่สุด
เรียกว่า
ชุดดิน |
|
|
4. การทำแผนที่ดิน |
|
|
แผนที่ดิน
หมายถึงแผนที่ที่แสดงขอบเขตของดินและการกระจายทางภูมิศาสตร์ของดินชนิดต่างๆ
ซึ่งมีสมบัติเกี่ยวข้องกันและเป็นลักษณะตามธรรมชาติของดินที่พบในการสำรวจ
และมีการระบุถึงชื่อต่างๆ ของดินตามระบบการจำแนกดินที่ใช้
การทำแผนที่ดิน เป็นการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลดินทั้งจากภาคสนาม
ผลการวิเคราะห์ต่างๆ ในห้องปฏิบัติการและข้อมูลการจัดจำแนกชนิดของดิน
เพื่อจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตและการกระจายของดินชนิดต่างๆ
ที่มีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศ โดยจะต้องรักษามาตรฐานของความถูกต้องตามมาตราส่วนที่กำหนดและประเภทของการสำรวจดิน
เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการแปลความหมายเพื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
|
|
5. การจัดทำรายงานสำรวจดิน |
|
|
รายงานการสำรวจดิน หมายถึง
เอกสารรายงานประกอบการแปลความหมายข้อมูลดินซึ่งแสดงรายละเอียดและคำอธิบายที่เชื่อมโยงถึงข้อมูลต่างๆ
ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ดินฉบับหนึ่งๆ อาจรวมถึงข้อมูลการประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของดิน
เพื่อการใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรที่บุคคลทั่วไปสามารถศึกษาทำความเข้าใจได้
ทั้งนี้เนื่องจากแผนที่ดินเพียงอย่างเดียวจะมีประโยชน์เฉพาะคนที่คุ้นเคยกับชื่อของหน่วยดินที่ระบุไว้ในแผนที่เท่านั้น |
|
|