หน้าตัดดิน และ ชั้นดิน >>
 
   
...
หน้าตัดดิน
 


 
 

เมื่อเรายืนอยู่พื้นดินนั้น เราจะมองเห็นดินเป็นเพียงแผ่นดินหรือพื้นผิวทีมี 2 มิติ คือ มีความกว้างและความยาว แต่หากว่าเราขุดดินลงไปจนเป็นหลุมขนาดใหญ่ จะเห็นว่าดินมีมิติที่ 3 คือมีความลึกหรือความหนา และเมื่อมองตามความลึกลงไปตามแนวดิ่งจะเห็นว่าดินนั้นมีการทับถมกันเป็นชั้นๆ โดยที่แต่ละชั้นจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่ภายในดิน เช่น สีดิน เนื้อดิน ชนิดของวัสดุหรือสิ่งที่ปะปนอยู่ในดิน เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์ทางดินหรือนักปฐพีวิทยา เรียกผิวด้านข้างของหลุมดินที่ตัดลงไปจากผิวหน้าดินตามแนวดิ่งซึ่งปรากฏให้เห็นชั้นต่างๆ ภายในดินนี้ว่า หน้าตัดดิน (soil profile) และเรียกชั้นต่างๆ ในดินที่วางตัวขนานกับผิวหน้าดินว่า ชั้นดิน (soil horizon)

การศึกษาหน้าตัดดินมักจะทำกันในช่วงความลึกตั้งแต่ผิวหน้าดินลงไปประมาณ 2 เมตร ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาลักษณะที่ปรากฏอยู่ในหน้าตัดดินบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ประกอบกับข้อมูลผลการตรวจสอบสมบัติทางกายภาพและเคมีของดินบนและดินล่าง จะทำให้เราสามารถแบ่งชนิดของดินออกเป็นกลุ่มและจัดหมวดหมู่ดินได้


ผู้ที่สนใจต้องการทราบข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะดินของประเทศไทยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และการวางแผนทางด้านการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถติดต่อขอรับบริการข้อมูลได้ที่ สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ www.ldd.go.th  

...
   
   
ชั้นดิน หรือ ชั้นกำเนิดดิน
   
       ในหน้าตัดของดินหนึ่งๆ นั้น ประกอบด้วยชั้นต่างๆ มากมาย โดยที่ชั้นเหล่านี้อาจเป็นชั้นที่เกิดจากกระบวนการทางดิน หรือเป็นชั้นของวัสดุต่างๆ ก็ได้
ชั้นดินหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 5 ชั้น คือ ชั้น O, A, E, B และ C แต่ในบางหน้าตัดดินอาจพบ ชั้น R ซึ่งเป็นชั้นหินพื้นที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับชั้นดินหลักตอนบนหรือไม่ก็ได้
   
       การสังเกตความแตกต่างของลักษณะที่ปรากฏอยู่ในแต่ละชั้นดิน และการเรียงตัวของชั้นดินที่ในหน้าตัดดินนี้เอง ที่ทำให้นักปฐพีวิทยาสามารถจัดแบ่งดินที่พบออกเป็นชนิดต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมกับดินในพื้นที่นั้นๆ
 
“ชั้น O” หรือเรียกว่า ชั้นดินอินทรีย์ คือ ชั้นที่มีการสะสมอินทรียวัตถุ์ทั้งที่มาจากพืชและสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาจากพืช เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า และพืชอื่นๆ ทั้งพวกที่มีการสลายตัวเพียงเล็กน้อย สลายตัวปานกลาง หรือสลายตัวมากจนไม่สามารถสังเกตเห็นลักษณะของชิ้นส่วนดั้งเดิม
   
“ชั้น A” หรือ ชั้นดินบน
ชั้นดินที่ประกอบด้วยอินทรียวัตถุที่สลายตัวแล้วผสมคลุกเคล้าอยู่กับแร่ธาตุในดิน มักมีสีคล้ำ
“ชั้น E” หรือ ชั้นชะล้าง
เป็นชั้นดินที่มีสีซีดจาง มีปริมาณอินทรียวัตถุน้อยกว่ากว่าชั้น A และมักจะมีเนื้อดินหยาบกว่าชั้น B ที่อยู่ตอนล่างลงไป
“ชั้น B” หรือ ชั้นดินล่าง
เป็นชั้นที่แสดงถึงการเคลื่อนย้ายมาสะสมของวัสดุต่างๆ เช่น อนุภาคดินเหนียว
“ชั้น C” หรือ ชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน เป็นชั้นของวัสดุที่เกาะตัวกันอยู่หลวมๆ อยู่ใต้ชั้นที่เป็นดิน ประกอบด้วยหินและแร่ที่กำลังผุพังสลายตัว
ีชั้นหินพื้นฐาน หรือที่เรียกกันว่า ชั้น R ซึ่งเป็นชั้นของหินแข็งชนิดต่างๆ ที่ยังไม่มีการผุพังสลายตัวอยู่ในหน้าตัดดินด้วย
“ชั้น R” หรือ ชั้นหินพื้น
เป็นชั้นหินแข็งที่ยังไม่ผุพังสลายตัว อาจจะมีหรือไม่มีในหน้าตัดดินก็ได้
 
     
  ชั้นต่างๆ ในดินที่เราใช้เพาะปลูกพืช อาจจะแบ่งอย่างง่ายๆ ดังนี้
   
 
  1. ชั้นดินบน หรือเรียกว่า “ชั้นไถพรวน” โดยทั่วไปมีความหนาประมาณ 15-30 ซม. จากผิวหน้าดิน ชั้นดินบนนี้เป็นชั้นที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก เพราะเป็นชั้นที่มีอินทรียวัตถุหรือฮิวมัส สูงกว่าชั้นดินอื่นๆ โดยปกติจะมีสีคล้ำหรือดำกว่าชั้นอื่นๆ รากพืชส่วนใหญ่จะชอนไชหาอาหารอยู่ในช่วงชั้นนี้
   
  2. ชั้นดินล่างเป็นชั้นที่มีอินทรียวัตถุน้อยกว่า รากพืชที่ชอนไชลงมาถึงชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรากของไม้ผลหรือไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อยึดเกาะดินไว้ให้พืชทรงตัวอยู่ได้ ไม่โค่นล้มลงได้ง่ายเมื่อมีลมพัดแรง
โดยทั่วไปรากพืชเจริญเติบโตและดูดธาตุอาหารเฉพาะในส่วนที่เป็นดินบนและดินล่าง ซึ่งดินแต่ละชนิดมีความลึกไม่เท่ากัน ดินที่ลึกจะมีพื้นที่ให้พืชหยั่งรากและดูดธาตุอาหารได้มากกว่าดินที่ตื้น การปลูกพืชให้ได้ผลดีจึงควรคำนึงถึงความลึกของดินด้วย
 
 
 
 
อ่านต่อ >>
กำเนิดของดิน
ดิน..คืออะไร
ดิน..สำคัญอย่างไร
โลกของเรามีดินอยู่มากน้อยแค่ไหน
ส่วนประกอบของ..ดิน
ปัจจัยที่ควบคุมการสร้างดิน
ลักษณะและสมบัติของดิน
แนวทางการศึกษาเกี่ยวกับดิน
เขาสำรวจดิน..กันอย่างไร
ดินของประเทศไทย
แผนที่ดินและการใช้ประโยชน์
ประเภทของดิน
ดินที่มีปัญหาทางการเกษตร
แหล่งข้อมูล..ที่น่าสนใจ
 

 

 
   กลับหน้าหลัก
:: สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน   กรมพัฒนาที่ดิน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ::   
๒๐๐๓/๖๑  ถนนพหลโยธิน  เขตจตุจักร  กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐

โทร. ๐๒๕๖๒ ๕๑๐๐ ต่อ ๑๓๖๗, ๑๓๓๙