การสำรวจดิน (soil survey)  คือการใช้วิธีการศึกษาทางสนาม และข้อสนเทศจากแหล่งต่างๆ มาประมวลเข้าด้วยกันเพื่อ แจกแจง ให้คำจำกัดความ และจำแนกชนิดต่างๆ ของดินในบริเวณใดบริเวณหนึ่งและแบ่งขอบเขตของบริเวณที่ดินแตกต่างกันออกเป็นหน่วยดิน ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยเดี่ยว หรือหน่วยผสมบนแผนที่ดิน และแปลความหมายข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมได้จากการสำรวจ เพื่อวัตถุประสงค์อันเป็นประโยชน์ และการสำรวจดินที่สมบูรณ์จะต้องประกอบด้วยแผนที่ดิน และรายงานการสำรวจดินที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชนิด ลักษณะของดิน และการแปลความหมายหน่วยพื้นที่ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ดิน

     งานสำรวจดินเป็นงานที่ต้องอาศัยหลักวิชาการหลายแขนงทั้งทางด้านปฐพีวิทยา (soil science) ธรณีวิทยา (geology) และทางด้านภูมิศาสตร์ (geography) ธรณีสัณฐานวิทยา (geomorphology) อุตุนิยมวิทยา (climatology) ตลอดจนวิชาที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ เกษตรศาสตร์ และการใช้ประโยชน์ที่ดินต่างๆ เข้ามาใช้ในการศึกษาเพื่ออธิบายถึงลักษณะและคุณสมบัติที่สำคัญของดิน กำเนิดของดิน และการจำแนกดิน

     หลักในการสำรวจดิน ประกอบด้วย 4 ประการด้วยกันคือ การตรวจสอบดินในสนาม การวิเคราะห์ตัวอย่างดินในห้องปฏิบัติการ การทำแผนที่ดิน และการทำรายงานสำรวจดิน
การตรวจสอบดินในสนาม คือการที่นักสำรวจดินออกสำรวจตรวจลักษณะสำคัญของดินในสนาม เพื่อหาขอบเขตของดินชนิดต่างๆ และเก็บข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึงการทำแผนที่ดินจากแผนที่พื้นฐานที่ใช้ในการสำรวจ การทำคำอธิบายหน้าตัดดิน และการเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
การวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการ โดยยึดถือตามวิธีการที่เป็นมาตรฐาน มีการวิเคราะห์ทั้งคุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และการวิเคราะห์ทางจุลสัณฐาน
การทำแผนที่ดิน เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งข้อมูลจากภาคสนาม ขอบเขตของชนิดดิน และผลการวิเคราะห์ดิน
การทำรายงานการสำรวจดิน เป็นการประมวลข้อมูลและข้อสนเทศต่างๆ ที่ได้จากการสำรวจดินในท้องที่หนึ่งๆ ออกมาเป็นรูปเล่ม ตามหัวข้อที่กำหนดไว้ ซึ่งประกอบด้วย
-
-

-
-
-
-

-
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับที่ตั้ง อาณาเขต ลักษณะภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศและธรณีวิทยา พืชพันธุ์ เป็นต้น
ลักษณะและชนิดของดินทั้งหมดที่พบ
รายงานการวินิจฉัยคุณภาพของดิน
สรุปผลและวิจารณ์พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ภาคผนวกแสดงรายละเอียดของคำบรรยายลักษณะดินซึ่งเป็นตัวแทนของดินชนิดต่างๆที่พบ ตารางแสดงคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี
แผนที่ดินพร้อมทั้งรายละเอียดและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้ในแผนที่ เนื้อที่ และคำอธิบายสัญลักษณ์
เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจดิน
ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่พื้นฐาน สำหรับศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่โดยทั่วไป และกำหนดขอบเขตโดยประมาณไว้เพื่อเป็นแนวทางในการเจาะสำรวจในสนามต่อไป
เครื่องมือสำหรับขุด ได้แก่ พลั่ว จอบ สว่านเจาะดินแบบต่างๆ เช่น สว่านใบมีด สำหรับเจาะดินเหนียว สว่านเกลียว เหมาะสำหรับดินที่มีชั้นดานแข็งมากๆ หรือสว่านแบบท่อ ซึ่งใช้ได้กับดินทั่วไป
เครื่องมือที่ใช้ในการทำแผนที่ เช่น เข็มทิศ เครื่องวัดความลาดชัน เป็นต้น
อุปกรณ์ในการศึกษาลักษณะดินและเก็บตัวอย่างดิน เช่น สมุดเทียบสีดิน น้ำยาวัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินในสนาม กรดเกลือสำหรับทดสอบสารพวกคาร์บอเนต แว่นขยาย เทปวัดระยะ กระบอกฉีดน้ำ มีด ฆ้อนตอกดิน ฆ้อนธรณี ถุงพลาสติกสำหรับเก็บตัวอย่างดิน เป็นต้น
ข้อสนเทศต่างๆ
การวินิจฉัยพื้นที่ในการสำรวจและจำแนกดิน

ในเบื้องต้นของการสำรวจสำรวจพื้นที่เพื่อทำแผนที่ดิน จะต้องมีการวินิจฉัยพื้นที่สำรวจเพื่อกำหนดเป็นหน่วยหรือพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ

หน่วยจำแนก (classified or taxonomic unit)

     เป็นหน่วยที่ระบุชั้นการจำแนกในขั้นการจำแนกดินของระบบการจำแนกระบบใดระบบหนึ่ง เช่นในระบบของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาเดิม อาจเป็น กลุ่มดินหลัก (great soil group) ชุดดิน (soil series) และชนิดดิน (soil type) ส่วนในระบบอนุกรมวิธานดิน แบ่งเป็น อันดับ (order) อันดับย่อย (suborder) กลุ่มดินใหญ่ (great group) กลุ่มดินย่อย (subgroup) วงศ์ดิน (family) และชุดดิน (series) เป็นต้น

หน่วยไม่จำแนก (unclassified unit)

     เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ทำการสำรวจจำแนก อาจเป็นพื้นที่หวงห้าม พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่อันตราย หรือพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าทำการสำรวจ เช่น ที่ลาดชันเชิงซ้อน (slope complex) เขตทหาร อุทยานแห่งชาติเป็นต้น

พื้นที่เบ็ดเตล็ด (micellaneous areas)

     โดยทั่วไปมักจะหมายถึง พื้นที่ที่แทบจะไม่มีดินและมีพืชพรรณขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย อาจมีสาเหตุมาจากดินถูกกร่อนอย่างรุนแรง สภาพดินไม่เหมาะสมหรือเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมของมนุษย์ เช่น หาดทราย (beach) ที่ดินร่องลึก (gullied land) ที่ดินหินพื้นโผล่ (rock outcrop) ที่ลุ่มน้ำขัง (swamp) ที่ดินเหมืองแร่ร้าง (abandoned mine land) เป็นต้น

 

หน่วยแผนที่

     หมายถึงหน่วยหรือชื่อที่แสดงถึงลักษณะและสมบัติของขอบเขตที่แสดงในแผนที่ ซึ่งอาจแสดง ลักษณะของดิน หรือพื้นที่เบ็ดเตล็ด เป็นหน่วยเดี่ยวหรือปะปนกันก็ได้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
หน่วยเดี่ยว (consociations) เป็นหน่วยแผนที่ที่ประกอบด้วยหน่วยจำแนกดินเดี่ยว หรือหน่วยพื้นที่เบ็ดเตล็ด เป็นส่วนใหญ่ โดยอย่างน้อยที่สุดจะต้องมีปริมาณเนื้อที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ในแต่ละขอบเขต
หน่วยสัมพันธ์ (associations) เป็นหน่วยแผนที่ที่ภายในขอบเขตนั้นๆ มีดินตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป หรือมีดินกับพื้นที่เบ็ดเตล็ด ซึ่งจะเกิดควบคู่กันเสมอ และมีความสัมพันธ์กันในทางสภาพพื้นที่ แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของมาตราส่วนแผนที่จึงไม่สามารถแยกขอบเขตออกจากกันได้
หน่วยเชิงซ้อน (complexes) เป็นหน่วยแผนที่ที่ภายในขอบเขตนั้นๆ มีดินตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป หรือมีดินกับพื้นที่เบ็ดเตล็ดเช่นเดียวกับหน่วยสัมพันธ์แม้ว่ามาตราส่วนของแผนที่จะใหญ่ขึ้น ก็ยังไม่สามารถแยกขอบเขตขอบเขตของดินหรือพื้นที่เบ็ดเตล็ดเหล่านั้นออกจากันได้ อาจเกิดจากความซับซ้อนของพื้นที่
หน่วยศักย์เสมอ (undifferentiated group) เป็นหน่วยแผนที่ที่ภายในขอบเขตนั้นๆ มีดินตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป แต่ดินทั้งหมดนั้นไม่มีความแตกต่างในเรื่องของการนำไปใช้ประโยชน์และการจัดการดิน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกขอบเขตออกจากกัน
ระดับการสำรวจและจำแนกดิน

     เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการนำข้อมูลดินไปใช้มีความแตกต่างกัน ทำให้การสำรวจ จำแนก และทำแผนที่ดิน มีระดับความหยาบหรือละเอียดแตกต่างกันออกไปหลายระดับ ตั้งแต่หยาบมากจนถึงละเอียดมาก ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
การสำรวจดินแบบหยาบมากหรือแบบกว้าง (Exploratory survey)
     
      เป็นการสำรวจดินเพื่อใช้ข้อมูลในการวางแผนระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ และใช้เป็นแนวทางในการวางแผนศึกษาขั้นละเอียดต่อไป แผนที่ที่ใช้ในการสำรวจในสนามมีมาตราส่วน 1:100,000 ถึง 1:250,000 แผนที่ที่พิมพ์เผยแพร่มีขนาดมาตราส่วน 1:1,000,000 หรือเล็กกว่า ขอบเขตของดินแต่ละหน่วยที่แสดงไว้ในแผนที่ดิน อาศัยการแปลจากรูปถ่ายทางอากาศหรือภาพจากดาวเทียม โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดินเป็นแนวทาง เช่นข้อมูลทางธรณีวิทยา ธรณีสัณฐานวิทยา พืชพรรณและการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการตรวจสอบดินในสนามเป็นบางจุด โดยทั่วไปจะเป็นไปในแนวตัดขวางกับสภาพพื้นที่และธรณีวิทยา หน่วยแผนที่ที่แสดงไว้บนแผนที่ดินส่วนใหญ่เป็นหน่วยสัมพันธ์ (association) อาจมีหน่วยเดี่ยว และหน่วยศักย์เสมอ (undifferentiated group) บ้าง
การสำรวจดินแบบหยาบ (Reconnaissance survey)

     เป็นการสำรวจดินเพื่อใช้ข้อมูลในการวางแผนระดับภาคหรือระดับประเทศ เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนา และใช้เป็นแนวทางในการวางแผนศึกษาขั้นละเอียดต่อไป แผนที่ที่ใช้ในการสำรวจดินในสนามมีมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:100,000 ถึง 1:250,000 แผนที่ที่พิมพ์เผยแพร่มีขนาดมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:100,000 ถึง 1:1,000,000 ขอบเขตของดินอาศัยการแปลจากรูปถ่ายทางอากาศ หรือภาพจากดาวเทียม ประกอบกับการตรวจสอบดินในสนามในแนวตัดขวางกับสภาพพื้นที่และธรณีวิทยา โดยปริมาณจุดที่ตรวจสอบดินจะมากกว่าการสำรวจดินแบบหยาบมาก โดยกำหนดไว้ประมาณ 12.5 ตารางกิโลเมตร ต่อ1 จุดตรวจสอบดิน (8000 ไร่/1 จุด) หน่วยแผนที่ที่แสดงไว้บนแผนที่ดินส่วนใหญ่เป็นหน่วยสัมพันธ์ (association) อาจมีหน่วยเชิงซ้อน (complex) หน่วยเดี่ยว และหน่วยศักย์เสมอ (undifferentiated group) บ้าง

การสำรวจแบบค่อนข้างหยาบ (Detailed reconnassiance survey)

     เป็นการสำรวจดินเพื่อใช้ข้อมูลในการวางแผนระดับจังหวัดหรือโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดพื้นที่ที่จะใช้พัฒนา หรือเพื่อศึกษาในรายละเอียดต่อไป แผนที่ที่ใช้ในการสำรวจดินในสนามมีมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:40,000 ถึง 1:100,000 แผนที่ที่พิมพ์เผยแพร่มีขนาดมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:50,000 ถึง 1:100,000 ขอบเขตของดินอาศัยการแปลจากรูปถ่ายทางอากาศหรือภาพจากดาวเทียม ประกอบกับการตรวจสอบดินในสนาม โดยกำหนดปริมาณจุดเก็บตัวอย่างไว้ประมาณ 1-2 ตารางกิโลเมตรต่อ 1 จุด (625-1250 ไร่/ 1 จุด) หน่วยแผนที่ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นหน่วยสัมพันธ์ (association) อาจมีหน่วยเชิงซ้อน (complex) หน่วยเดี่ยว (consociatations) และหน่วยศักย์เสมอ (undifferentiated group) บ้าง

การสำรวจแบบค่อนข้างหยาบ (Detailed reconnassiance survey)

     เป็นการสำรวจดินเพื่อใช้ข้อมูลในการวางแผนระดับอำเภอหรือโครงการขนาดกลาง เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาและวางแนวทางการปฏิบัติงาน แผนที่ที่ใช้ในการสำรวจดินในสนามมีมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:15,000 ถึง 1:50,000 แผนที่ที่พิมพ์เผยแพร่มีขนาดมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:25,000 ถึง 1:60,000 ขอบเขตของดินอาศัยการแปลจากรูปถ่ายทางอากาศหรือภาพจากดาวเทียม ประกอบกับการตรวจสอบดินในสนาม โดยกำหนดปริมาณจุดเก็บตัวอย่างไว้ประมาณหนึ่งตารางกิโลเมตรต่อ 4-6 จุดตรวจสอบดิน (100-500 ไร่/1 จุด) หน่วยแผนที่ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นหน่วยเดี่ยว (consociation) และหน่วยเชิงซ้อนของประเภทหรือชุดดินคล้าย (phase of soil series หรือ soil variant) และหน่วยพื้นที่เบ็ดเตล็ด (miscellaneous area) อาจมีหน่วยสัมพันธ์ (association) และหน่วยศักย์เสมอ ได้บ้าง

การสำรวจแบบละเอียด (Detailed survey)

     เป็นการสำรวจดินในระดับไร่นา หรือในพื้นที่โครงการขนาดเล็กที่ต้องการการพัฒนาอย่างปราณีต สามารถจัดทำแผนการจัดการที่ดิน ที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงในพื้นทีได้ จึงจำเป็นต้องมีการบันทึกข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียดกว่าระดับอื่นๆ ที่ผ่านมาและต้องมีการตรวจสอบขอบเขตของดินให้มีความถูกต้องมาก แผนที่ที่ใช้ในการสำรวจดินในสนามมีมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:10,000 ถึง 1:30,000 แผนที่ที่พิมพ์เผยแพร่มีขนาดมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:10,000 ถึง 1:30,000 หรือมาตราส่วนใหญ่กว่า ขอบเขตของดินจะเน้นการตรวจสอบดินในสนามให้มากขึ้น แต่จะอาศัยรูปถ่ายทางอากาศและภาพจากดาวเทียมในการเขียนขอบเขตดิน ระยะในการตรวจสอบดินไม่ควรห่างกันเกิน 250 เมตร/1 จุด (50-80 ไร่/ 1 จุด) หน่วยแผนที่ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นหน่วยเดี่ยวโดยเป็นประเภทของชุดดินหรือดดินคล้าย (phase of series หรือ soil variants) และหน่วยพื้นที่เบ็ดเตล็ด อาจมีหน่วยเชิงซ้อนบ้างเล็กน้อย

การสำรวจแบบละเอียดมาก (Very detailed survey)

     เป็นการสำรวจดินในพื้นที่ที่ใช้ทำการศึกษาวิจัย การทำแปลงทดลองที่ต้องการข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และมีความละเอียดเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องมีการเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์ด้วย แผนที่ที่ใช้ในการสำรวจดินในสนามมีมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:2,000 ถึง 1:10,000 แผนที่ที่พิมพ์เผยแพร่มีขนาดมาตราส่วนอยู่ระหว่าง 1:5,000 ถึง 1:10,000 หรือมาตราส่วนใหญ่กว่า ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ที่ทำการสำรวจ ขอบเขตของดินจะเน้นการตรวจสอบดินในสนามให้มากขึ้น แต่จะอาศัยรูปถ่ายทางอากาศและภาพจากดาวเทียมในการเขียนขอบเขตดิน ระยะในการตรวจสอบดินไม่ควรห่างกันเกิน 100 เมตร/1 จุด (3-10 ไร่/ 1 จุด) หน่วยแผนที่ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นหน่วยเดี่ยวโดยเป็นประเภทของชุดดินหรือดดินคล้าย (phase of series หรือ soil variants) และหน่วยพื้นที่เบ็ดเตล็ด

 

. ...อ่านต่อ...การจำแนกดิน.