|
|
การจำแนกดิน
หมายถึง การรวบรวมดินชนิดต่างๆ ที่มีลักษณะ หรือ คุณสมบัติที่หมือนกันหรือคล้ายคลึงกันตามที่กำหนดไว้
ให้เป็นหมวดหมู่อย่างมีระเบียบ เพื่อสะดวกในการจดจำและนำไปใช้งาน |
เนื่องจากการจำแนกดินนั้น
มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้มีการใช้ดิน และที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ
นักปฐพีวิทยาในแต่ละเขตของโลกซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับดินชนิดต่างๆ
ที่ไม่เหมือนกันนัก จึงได้สร้างระบบการจำแนกดินที่แตกต่างกันขึ้น ในประเทศที่มีวิวัฒนาการด้านนี้มานานและมีผลการศึกษาดินมากพอ
นักวิชาการก็สามารถกำหนดระบบการจำแนกดินที่เหมาะสมกับประเทศของตนเองขึ้นเป็นเอกเทศได้
ส่วนในบางประเทศก็อาจจะนำระบบการจำแนกดินที่มีมาตรฐานจากประเทศอื่นมาปรับใช้กับประเทศตนเองได้
อย่างไรก็ตามหลักการใหญ่ๆ ของการจำแนกดินนั้นนับว่าค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน
เพราะมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันคือประเทศรัสเซียเมื่อราวๆ ปี ค.ศ.
1870 และเริ่มเจริญมากประมาณปี ค.ศ. 1882 เมื่อนักธรณีวิทยาชื่อ V.V.
Dokuchaev ริเริ่มจำแนกดินขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักการสากล โดยถือว่าดินมีตัวตนของมันเองในธรรมชาติ
มีขอบเขต และมีหน่วยเป็นของตัวเอง แต่ไม่ว่าจะใช้ระบบการจำแนกใดก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ
ลักษณะต่างๆ ของดินที่นักวิทยาศาสตร์ทางดินจะมองเห็น หรือวัดได้ทั้งในสนามและห้องปฏิบัติการ
และนักสำรวจดินจะต้องเข้าใจถึงนิยามของคำต่างๆ ที่ใช้เป็นอย่างดี เพื่อให้การแลกเปลี่ยนความรู้หรือการถ่ายทอดทางวิชาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล
ระบบการจำแนกดินที่แพร่หลายในเขตต่างๆ
ของโลกมีหลายระบบด้วยกัน อาทิเช่น ระบบการจำแนกดินของรัสเซีย ฝรั่งเศส
อังกฤษ เบลเยี่ยม แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล ระบบการจำแนกดินขององค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ
ซึ่งแสดงด้วยแผนที่ดินของโลก ที่เรียกว่า FAO/UNESCO of the World)
และระบบการจำแนกดินของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสองระบบหลังนี้มีผู้นิยมใช้กันกว้างขวางทั่วโลก
และประเทศไทยนั้นได้นำระบบการจำแนกดินของประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้นานแล้วและพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ
ตามความเหมาะสมสำหรับท้องถิ่น รายละเอียดของระบบการจำแนกดินต่างๆ โดยสังเขปมีดังนี้
|
ระบบการจำแนกดินของประเทศรัสเซีย
ระบบนี้จะให้ความสนใจดินที่เกิดในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น
จนถึงค่อนข้างร้อน ในการจำแนกขั้นสูง เน้นการใช้โซนภูมิอากาศและพืชพรรณเป็นหลัก
มีทั้งหมด 12 ชั้น (class I- class XII) โดยชั้น I-VI เป็นดินในเขตสภาพภูมิอากาศตั้งแต่หนาวจัด
จนถึงค่อนข้างหนาวในทะเลทราย ชั้น VII-IX เน้นสภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อน
โดยใช้ลักษณะความชื้น-ความแห้ง และสภาพพืชพรรณที่เป็นป่า หรือทุ่งหญ้า
เป็นปัจจัยจำกัด สำหรับชั้น X-XII เน้นดินในเขตร้อน จากขั้นสูงจะมีการจำแนกออกเป็นชั้นย่อย
ตามลักษณะการเกิดของดิน และแบ่งเป็นชนิดดิน ในขั้นต่ำ ระบบการจำแนกดินของคูเบียนา
การจำแนกดินใช้ สมบัติทางเคมีของดิน และโซนของภูมิอากาศกับพืชพรรณ เป็นหลัก
โดยเน้นสภาพแวดล้อมในเขตเมดิเตอร์เรเนียน และสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างแห้งแล้งมากกว่าเขตชื้นและฝนชุก |
ระบบการจำแนกดินของประเทศฝรั่งเศส
มีลักษณะเด่นคือ เป็นการจำแนกดินที่ใช้ลักษณะทั้งหมดภายในหน้าตัดดินเป็นเกณฑ์
เน้นพัฒนาการของหน้าตัดดิน โดยพิจารณาจาการจัดเรียงตัวของชั้นกำเนิดดินภายในหน้าตัดดินโดยเฉพาะ
กับการที่มีปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลง หรือชั้นที่มีการสะสมของดินเหนียว
การจำแนกขั้นสูงสุด เน้นลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการขังน้ำ ส่วนขั้นต่ำ
ใช้ความมากน้อยในการเคลื่อนย้ายอนุภาคดินเหนียวในหน้าตัดดิน |
ระบบการจำแนกดินของประเทศเบลเยียม
เป็นการจำแนกที่ค่อนข้างละเอียด ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ที่ดินทางการเกษตรที่เข้มข้น
การจำแนกดินใช้ลักษณะของเนื้อดิน ชั้นการระบายน้ำ และพัฒนาการของหน้าตัดดิน
เป็นลักษณะจำแนก สำหรับการแจกแจงเนื้อดิน แบ่งออกเป็น 7 ชั้น (ชั้นอนุภาคดิน)
วัสดุอินทรีย์และตะกอนลมหอบ ส่วนชั้นการระบายน้ำของดิน ใช้การแปลความหมายที่เกี่ยวกับความเปียกของดิน
เช่น จุดประ และสีเทาในเนื้อดิน กับระดับความลึกของดินที่พบลักษณะดังกล่าว
สำหรับพัฒนาการของหน้าตัดดินแบ่งออกเป็นหลายชั้นโดยพิจารณาจากลำดับของชั้นต่าง
ๆ ในหน้าตัดดินและชั้น (B) ถือว่าเป็นชั้น B ที่เพิ่งมีพัฒนาการหรือเป็นชั้นแคมบิก
B คล้ายคลึงกันกับในระบบของฝรั่งเศส |
ระบบการจำแนกดินของประเทศอังกฤษ
เน้นลักษณะดินที่พบในประเทศอังกฤษและเวลส์
ประกอบด้วย 10 กลุ่ม แจกแจงออกจากกันโดยใช้ลักษณะของหน้าตัดดินเป็นเกณฑ์ซึ่งเน้นชนิดและการจัดเรียงตัวของชั้นดิน
ประกอบด้วย Terrestrial raw soils, Hydric raw soils, Lithomorphic
(A/C) soils, Pelosols, Brown soils, Podzolic soils, Surface water
gley soils, Groundwater gley soils, Man-made soils และ Peat soils |
ระบบการจำแนกดินของประเทศแคนาดา
ระบบการจำแนกเป็นแบบมีหลายขั้นอนุกรมวิธานและมีลำดับสูงต่ำชัดเจน
ประกอบด้วย 5 ขั้นด้วยกันคือ อันดับ (order) กลุ่มดินใหญ่ (great group)
กลุ่มดินย่อย (subgroup) วงศ์ดิน (family) และชุดดิน (series) ชั้นอนุกรมวิธานของดินในระบบการจำแนกดินของแคนาดาแจงแจงออกจากกันโดยใช้ลักษณะที่สังเกตได้
และที่วัดได้ แต่หนักไปในทางด้านทฤษฎีการกำเนิดดินในการจำแนกขั้นสูง
ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 อันดับ และแบ่งออกเป็น 28 กลุ่มดิน |
ระบบการจำแนกดินของประเทศออสเตรเลีย
การพัฒนาด้านการจำแนกดินในออสเตรเลียมีมานานแล้วเช่นกัน
โดยในช่วงแรกเป็นการจำแนกดินที่ใช้ธรณีวิทยาของวัสดุดินเริ่มแรกเป็นหลัก
แต่ต่อมาได้มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงเน้นสัณฐานวิทยาของหน้าตัดดินโดยแบ่งออกเป็น
47 หน่วยดินหลัก (great soil groups) เนื่องจากการที่ประเทศออสเตรเลียมีสภาพภูมิอากาศอยู่หลายแบบด้วยกัน
ทำให้มีสภาพแวดล้อมทางดินหลายแบบด้วยกันตามไปด้วย มีทั้งในสภาพที่หนาวเย็นไปจนถึงเขตร้อนชื้น
และเขตที่เป็นทะเลทราย ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าระบบการจำแนกนี้ครอบคลุมชนิดของดินต่าง
ๆ มากมาย แต่เน้นดินที่มีการสะสมคาร์บอเนต เน้นสีของดิน และเนื้อของดินค่อนข้างมาก
ระบบการจำแนกดินของออสเตรเลียนี้มีอยู่มากกว่า 1 แบบ เนื่องจากมีการเสนอระบบต่าง
ๆ ที่มีแนวความคิดพื้นฐานแตกต่างกันออกไป เช่นระบบของฟิทซ์แพทริก (FitzPatrick,
1971, 1971, 1980) ที่เน้นจากระดับต่ำขึ้นไปหาระดับสูง และระบบที่พบอยู่ในคู่มือของดินออสเตรเลีย
(A Handbook of Australia Soils) เป็นต้น |
ระบบการจำแนกดินของประเทศนิวซีแลนด์
ประเทศนิวซีแลนด์ใช้ระบบอนุกรมวิธานดินของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักในการจำแนกดิน
และดินของประเทศนิวซีแลนด์บริเวณกว้างเป็นดินที่เกิดมาจากตะกอนภูเขาไฟ |
ระบบการจำแนกดินของประเทศบราซิล
ดินในประเทศบราซิลเป็นดินที่มีลักณะเด่นเป็นดินเขตร้อน
ระบบการจำแนกดินของบราซิลไม่ใช้สภาพความชื้นดินในการจำแนกขั้นสูง และใช้สี
ปริมาณขององค์ประกอบกับชนิดของหินต้นกำเนิด เป็นลักษณะที่ใช้ในการจำแนกมากกว่าที่ใช้ในอนุกรมวิธานดินกษณะที่ใช้ในการจำแนกมากกว่าที่ใช้ในอนุกรมวิธานดิน |
ระบบการจำแนกดินของประเทศสหรัฐอเมริกา
พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1938 โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา
เรียกกันโดยทั่วไปว่า ระบบ USDA 1938 แนวความคิดหลักของระบบนี้ถือว่า
โซนของภูมิอากาศ และพืชพรรณ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ดินมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
ในระบบมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยการจำแนกขั้นสูงและขั้นต่ำ โดยขั้นสูงประกอบด้วย
อันดับ (order) อันดับย่อย (suborder) และกลุ่มดินหลัก (great soil
group) ส่วนในขั้นต่ำ ประกอบด้วย วงศ์ (family) ชุดดิน (series) ชนิดดิน
(type) กับประเภทของดิน (phase) ซึ่งประเภทของดินจะสามารถใช้ประกอบในการเรียกชื่อหน่วยดินในการทำแผนที่ดินได้ในทุกระดับ
อย่างไรก็ตามพบว่าการจำแนกดินตามระบบ
USDA 1938 นั้นมีข้อบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะในกรณีที่นำเอาสภาพแวดล้อมต่างๆ
ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดดินมาเป็นบรรทัดฐานมากเกินไป จนบางครั้งทำให้เกิดความสับสนในการจำแนกดินในสนาม
นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับ หรืออันดับย่อย หรือกลุ่มดิน ยังให้ไว้กว้างเกินไปจนทำให้บางชุดดินสามารถจัดเข้ากลุ่มดินได้หลายกลุ่ม
ซึ่งตามหลักแล้วชุดดินหนึ่งๆ ควรอยู่ได้เพียงกลุ่มดินเดียว ดังนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบจำแนกดินขึ้นมาโดยยึดหลักสำคัญว่าลักษณะที่นำมาจำแนกดินไม่ควรจะเน้นความสำคัญของปัจจัยภายนอกมากเกินไป
แต่ควรพิจารณาลักษณะของตัวดินเอง โดยลักษณะที่ใช้ในการจำแนกนั้นต้องเป็นลักษณะที่สังเกตได้
วัดได้ หรือวิเคราะห์ได้ในสนามและห้องปฏิบัติการมาใช้เป็นบรรทัดฐานสำคัญในการจำแนกดิน
และใช้ชื่อให้มีความหมายที่สามารถบอกลักษณะดินโดยสังเขปไปในตัวด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว นักปฐพีวิทยาของสหรัฐอเมริกาจึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ
จากนักปฐพีวิทยาทั่วโลก เพื่อนำมาจัดทำระบบการจำแนกดินแบบใหม่ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อ
ปี ค.ศ. 1951 และได้ดัดแปลงแก้ไขมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มแรกในปี
ค.ศ.1960 โดยใช้ชื่อว่า Soil Classification A Comprehensive System-7th
Approximation ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขกันอีก และได้พิมพ์ฉบับที่มีการแก้ไขออกมาเรียกว่า
Supplement to Soil Classification Approximation แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1975 ได้พิมพ์แก้ไขฉบับล่าสุดออกมาใช้ โดยใช้ชื่อว่า
Soil Taxonomy
ในปัจจุบัน Soil Taxonomy
หรือระบบอนุกรมวิธานดินนี้ เป็นระบบการจำแนกดินระบบหนึ่งที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในโลก
ที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการสำรวจทรัพยากรดิน
และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการจัดการทางการเกษตร เป็นระบบการจำแนกดินที่เป็นแบบหลายขั้น
(multicategorical system) ตั้งแต่ขั้นสูงถึงขั้นต่ำ รวม 6 ขั้นด้วยกัน
คือ อันดับ (order) อันดับย่อย (suborder) กลุ่มดินใหญ่ (great group)
กลุ่มดินย่อย (subgroup) วงศ์ดิน (family) และชุดดิน (series) ตามลำดับ
สำหรับในขั้นชุดดินใช้ชื่อสถานที่ที่พบดินชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวแยกออกจากดินอื่นๆ
ได้เป็นครั้งแรก และมีขอบเขตของพื้นที่ที่เป็นดินดังกล่าวกว้างขวางมากพอ
ลักษณะเด่นของอนุกรมวิธานดิน ก็คือหน่วยอนุกรมวิธานดินต่างๆ
ในการจำแนกขั้นสูงประกอบขึ้นด้วยศัพท์ต่างๆที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก
และละตินเป็นส่วนใหญ่ แต่จะมีภาษาใหม่ๆ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นอยู่บ้าง
โดยศัพท์แต่ละคำที่เป็นองค์ประกอบของชื่ออนุกรมวิธานดินมีความหมายเฉพาะตัว
และเมื่อสมาสกันเข้าเป็นชื่อก็จะมีความหมายต่อเนื่องหรือร่วมกันที่จะบ่งบอกถึงลักษณะเด่นของดินโดยสังเขป
ทำให้พอเข้าใจได้ว่าดินนั้นมีลักษณะโดยทั่วๆไปเป็นอย่างไร สำหรับคำประกอบชื่อของดินในขั้นต่ำของการจำแนกในอนุกรมวิธานดิน
เป็นภาษาวิทยาศาสตร์ที่ง่าย และเน้นไปสู่ลักษณะดินที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืช
เช่น ชั้นอนุภาคดินจะเกี่ยวจะเกี่ยวข้องกับเนื้อดิน ชั้นแร่วิทยาของดินจะเป็นชื่อของแร่องค์ประกอบที่เด่นของดิน
ชั้นปฏิกิริยาดินจะชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และชั้นอุณหภูมิดินจะระบุถึงช่วงอุณหภูมิของดินในชั้นรากพืชในช่วงปี
ซึงเมื่อรวมเข้ากับชื่ออนุกรมวิธานดินในขั้นสูง ก็จะสามารถประมาณได้ว่าดินดังกล่าวมีจุดเด่น-ด้อยในการรองรับการจัดการด้านการเกษตรโดยทั่วไปอย่างไร
|
การควบคุมมาตรฐานการสำรวจจำแนกดิน
|
|
การควบคุมมาตรฐานการสำรวจจำแนกและทำแผนที่ดิน
เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและวิจัยลักษณะของดินเพื่อการจำแนกดินการกำหนดชื่อและให้นิยามชุดดินหรือหน่วยแผนที่ดินการเปรียบเทียบ
(correlation) และควบคุมมาตรฐาน (standardization) หน่วยอนุกรมวิธาน
(taxonmic unit) ที่ใช้เป็นหลักในการสำรวจและทำแผนที่ดินให้อยู่ในมาตฐานที่กำหนดไว้และหน่วยแผนที่ดิน
(map unit) มีลักษณะอยู่ในช่วงที่กำหนดไว้เหมือนกันเมื่อดินนั้นได้ให้ชื่ออย่างเดียวกัน
แม้จะพบในบริเวณที่ต่างกันก็ตาม นอกจากที่กล่าวแล้วงานควบคุมมาตรฐานยังเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขการบรรยายลักษณะหน้าตัดของดิน
(profile description) และการจำแนกดินในขั้นตอนต่างๆ ของระบบการจำแนกที่นำมาใช้ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางด้านการจำแนกดินที่มีการปรับปรุงเปลี่ยแปลงอยู่เสมอ
พร้อมกับการจัดทำคู่มือการจำแนกดินในแต่ละภาค และของประเทศ เพื่อให้นักสำรวจดินนำไปเป็นหลักการจำแนกดินในสนามให้อยู่ในมาตรฐานเดี่ยวกันทั้งประเทศ
และสามารถใช้ผลการจำแนกดินเป็นฐานในการถ่ายทอดผลงานวิจัยทางด้านการเกษตรระหว่างพื้นที่หรือระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการวิจัยได้เป็นอย่างมาก
จากที่กล่าวมาจึงพอมองเห็นได้ว่า
การควบคุมมาตรฐานการสำรวจจำแนกและทำแผนที่ดินส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพ
(quality) ของการจำแนกและทำแผนที่ดินเป็นหลัก และการควบคุมมาตรฐานจะต้องทำทั้งในสนามและในขั้นตอนการทำแผนที่ดิ
และรายงานการสำรวจดิน
โดยปกติแล้ว การควบคุมมาตรฐานการสำรวจจำแนกและทำแผนที่ มีขั้นตอนการดำเนินงานอยู่
3 ขั้นตอน คือ |
ศึกษาข้อมูลเบื้องต้น (Initial review) |
เป็นการดำเนินงานก่อนที่จะทำการสำรวจดินในพื้นที่โครงการโดยทำการเจาะสำรวจและศึกษาลักษณะของดิน
และกำหนดหน่วยแผนที่ดิน (map unit) ในสภาพภูมิสัณฐานต่างๆ ของพื้นที่ที่จะทำการสำรวจดิน
ถ้าดินใดมีลักษณะเหมือนหรืออยู่ในช่วงลักษณะที่ได้เคยกำหนดไว้ในชุดดิน
(soil series) ที่มีการตั้งชื่อแล้ว (established series) ก็ให้ชื่อตามชุดนั้น
แต่ถ้าดินมีลักษณะไม่อยู่ในช่วงที่กำหนดไว้ สำหรับดินชุดใดๆ ก็ให้พิจารณาตั้งชื่อมาใหม่
(tentative series) หรือให้เป็น variant หรือ phase ของดินชุดหนึ่งที่มีลักษณใกล้เคียงกัน
เสร็จแล้วให้ทำการศึกษาสภาพแวดล้อมที่เกิดดิน เข่น วัตถุต้นกำเนิดดิน
สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ พืชพรรณที่ขึ้นปกคลุม และอายุการเกิดของดินพร้อมทั้งลักษณะทางด้านสัณฐานของดิน
(morphology) โดยทำการบรรยายลักษณะหน้าตัดของดินอย่างน้อย 3 หลุม และทำการเก็บตัวอย่างดินมาทำการวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางด้านเคมี
กายภาพ และแร่ของดิน จากสภาพการเกิดของดินและลักษณะต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาในสนามในขั้นแรกให้จัดทำตารางกำหนดลักษณะหน่วยการเกิดของดินและลักษณะต่างๆ
ที่ได้จากการศึกษาในสนามเพื่อนักสำรวจดินจะได้นำไปเป็นบรรทัดฐานในการจำแนกและทำแผนที่ดินต่อไป
สภาพการเกิดและคุณลักษณะของดินที่สำคัญที่ควรนำมาพิจารณากำหนดหน่วยแผนที่ดินนั้นจะประกอบด้วย
สภาพการเกิดได้แก่ สภาพพื้นที่รวมทั้งชั้นของความลาดเท (slope class)
วัตถุต้นกำเนิดดิน สภาพการระบายน้ำของดิน (internal drainage) พืชพรรณหรือการใช้ประโยชน์
ส่วนคุณลักษณะของดินนั้น ได้แก่ เนื้อดิน สีดินพื้น (matrix) จุดประ
(mottle) ปฏิกริยาของดิน (soil reaction) และลักษณะอื่นๆ ที่จะใช้เป็นลักษณะในการจำแนกดินออกจากชุดดินหรือดินที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
ซึ่งลักษณะต่างๆ ที่กล่าวนี้จะต้องกำหนดทั้งดินชั้นบนและดินขั้นล่าง
ข้อมูลการกำหนดช่วงลักษณะของหน่วยแผนที่ดินที่กล่าวนี้นอกจากใช้เป็นบรรทัดฐานในการทำแผนที่ดินแล้ว
ยังใช้เป็นบรรทัดฐานในการเปรียบเทียบหน่วยของแผนที่ดิน (soil correlation)
ในช่วงที่การสำรวจดินกำลังดำเนินการในพื้นที่ของโครงการด้วย
|
การขยายผลในการตรวจสอบ (Progressive Review) |
ดำเนินการขณะที่งานสำรวจดินในสนามกำลังเนินงานอยู่
โดยใช้ข้อมูลที่กำหนดลักษณะหน่วยของแผนที่ดินในขั้นแรกเปรียบเทียบ
(correlate) กับดินที่ทำการเจาะสำรวจใหม่ ในขั้นตอนที่สองนี้อาจพบดินที่ยังไม่เคยให้ชื่อมาก่อนหลายชุดดินก็ได้
ถ้าพบดินที่มี ลักษณะไม่เหมือนกับชุดดินที่เคยให้ชื่อมาก่อนก็จะต้องมีการตั้งชื่อชุดดินใหม่เป็นการชั่วคราว
(tentative series) และทำการศึกษาลักษณะสำคัญที่จะใช้เป็นหลักในการจำแนก
(differentiating characteristics) และกำหนดช่วงลักษณะต่างๆ (range
of characteristics) ในระดับชุดดินพร้อมกับทำคำบรรยายลักษณะหน้าตัดและเก็บตัวอย่างดินไปทำการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัตการ
สำหรับดินที่เจาะพบว่ามีลักษณะอยู่ในช่วงลักษณะของชุดดินที่เคยให้ชื่อมาแล้ว
ก็จะให้ชื่อตามชุดดินนั้นๆ เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมมาตรฐานจะต้องปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สำรวจดินทั้งในด้านการเจาะสำรวจในสนาม
และการศึกษาข้อมูลจากการเจาะตรวจลักษณะของดินแต่ละจุดหรือแต่ละหลุมเพื่อจะได้ทำการเปรียบเทียบให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดไว้
|
การตรวจสอบขั้นสุดท้าย (Final review) |
เป็นการดำเนินงานเปรียบเทียบหน่วยของแผนที่ดินหลังจากงานสำรวจดินในสนามใกล้จะเสร็จหรือเสร็จแล้ว
เพื่อตรวจดูสอบดูว่าแต่ละหน่วยที่แสดงไว้ในแผนที่และกำหนดขอบเขต (soil
boundary) ไว้นั้นมีความถูกต้องหรือไม่ แต่มันเป็นการยากที่จะตรวจสอบทุกพื้นที่ดินและหน่วย
(unit) จำเป็นต้องมีการสุ่มหรือเลือกพื้นที่ที่จะทำการตรวจสอบ (study
areas) หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการเจาะตรวจสอบเป็นแนวเส้นตรง (traverse)
เพื่อจะได้ทราบว่า ความถูกต้อง (accruancy) ของแผนที่ดินนั้นมีความถูกต้องหรือเชื่อมั่นได้สักกี่เปอร์เซนต์
การควบคุมมาตรฐานขั้นสุดท้ายนี้มิใช่เพียงการตรวจสอบในสนามเท่านั้น
ยังรวมถึงการตรวจสอบแผนที่ต้นร่างและการจัดทำรายงานสำรวจดินด้วย โดยเฉพาะการบรรยายลักษณะของหน่วยแผนที่ดิน
และการวินิจฉัยคุณภาพหรือการประเมินคุณภาพของดินเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ
จะต้องอยู่ในแนวความคิด (concept) ของชุดดินหรือหน่วยของแผนที่ดินได้กำหนดไว้แต่แรก
การควบคุมมาตรฐานขั้นสุดท้ายนี้นับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกับการควบคุมมาตรฐานขั้นแรกและขั้นที่สองที่ได้กล่าวมาแล้ว
ในการที่จะควบคุมมาตรฐานการสำรวจและจำแนกดินให้มีประสิทธิภาพได้นั้น
จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สำรวจดินในสนามที่จะให้ข้อมูล
และการแจ้งถึงปัญหาที่จะให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการควบคุมมาตรฐานเข้าไปช่วยในการแก้ไขรวมทั้งการร่วมมือในการจัดตั้ง
และกำหนดลักษณะของชุดดิน หรือหน่วยของแผนที่ดินที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่
ดังนั้นการดำเนินงานควบคุมมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินจึงต้องทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องทุกขั้นตอน |
..
การจำแนกดินของประเทศไทย... |