ดิน
เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาโดยกระบวนการทางธรรมชาติ
ทำให้ดินมีคุณสมบัติหลากหลายแตกต่างกันไปตามปัจจัยการกำเนิดดิน
ความแตกต่างในด้านคุณสมบัติของดินนั้นถูกนำมาใช้ในการจำแนกดินออกเป็นชุดดินต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตามคุณสมบัติของดินนั้นจะมีค่าเป็นช่วง
หรือเป็นค่าในเชิงคุณภาพ
ทำให้ดินในชุดเดียวกันก็มีความแตกต่างกันได้
และหลังจากที่มนุษย์ได้ใช้ดินในการเกษตรกรรม
มนุษย์ก็ได้มีการจัดการดินในลักษณะที่แตกต่างกันไป
ยิ่งส่งผลให้ดินในแต่ละบริเวณมีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้นไปอีก
การจะจำแนกดินให้มีความจำเพาะในทุกๆ
แปลงนั้นก็เป็นไปไม่ได้
เพราะสมบัติของดินมีความแปรปรวนได้ง่ายในรายละเอียด
ถึงแม้ว่าดินในชุดดินเดียวกันจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบริเวณ
แต่สมบัติบางประการของดินที่แม้จะเป็นช่วงค่า
ก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันมากนักในการใช้งาน
และสมบัติหลายๆ ประการก็เป็นสมบัติที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ยาก
ขณะเดียวกันก็มีสมบัติบางประการที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างชัดเจน
เช่น สมบัติด้านธาตุอาหารพืชคือไนโตรเจน
ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้มากจึงหมดไปจากดินได้มากหากไม่มีการเพิ่มเติมให้กับดินในรูปของปุ๋ย
หรือเช่น สมบัติด้านโครงสร้างและความแน่นทึบของดิน
ซึ่งจะเกี่ยวพันถึงการหมดไปของอินทรียวัตถุในดิน
ดินในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นจะมีการสลายตัวของอินทรียวัตถุอย่างรวดเร็ว
หากในการจัดการดินไม่มีการเพิ่มเติมอินทรียวัตถุให้กับดิน
จะทำให้ดินแน่นทึบ ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารจะลดลง
เนื่องจากรากพืชไม่สามารถแผ่กระจายได้เท่าที่ควร
เป็นเหตุให้ปุ๋ยต่างๆ
ที่ใส่ให้กับพืชดูเสมือนไม่ได้ผล
สมบัติที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายเหล่านี้มักเกิดในดินชั้นบนโดยเฉพาะบริเวณหน้าดิน
ซึ่งเป็นส่วนที่รากพืชจะแผ่กระจายดูดธาตุอาหารขึ้นไปเพื่อการเจริญเติบโตของพืช
ฉะนั้นหากดินในชุดเดียวกันแต่มีการจัดการที่แตกต่างกัน
ก็จะทำให้มีต้นทุนธาตุอาหารคงเหลือในดินที่แตกต่างกัน
และทำให้การใส่ปุ๋ยเคมี-ปุ๋ยอินทรีย์จะต้องแตกต่างกันไปด้วย
ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
ในด้านของพืชพรรณนั้น
พืชแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกันสำหรับการเจริญเติบโตทั้งในแง่ของชนิดและปริมาณ
แม้ในพืชชนิดเดียวกันแต่คนละสายพันธุ์ก็มีความต้องการแตกต่างกันไปด้วย
นอกจากความต้องการด้านธาตุอาหารแล้ว
ภูมิอากาศก็มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดแต่ละสายพันธุ์ด้วยเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นในการให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง
หรือการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินนั้น
จึงมุ่งเน้นที่จะกำหนดแนวทางการจัดการให้เจาะจงตามข้อมูลดิน
พืช และภูมิอากาศ ณ แปลงนั้นๆ
เป็นสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องมีค่าวิเคราะห์ดินทั้งทางเคมี
(จากตัวอย่างดิน) และทางกายภาพ
(จากข้อมูลชุดดิน และกลุ่มชุดดิน)
สำหรับคำแนะนำนั้นจะมีความเจาะจงได้เพียงใดก็ขึ้นกับผลการศึกษา
ค้นคว้า วิจัยของนักวิชาการ
และเกษตรกรเป็นหลัก |