ดูแลให้สุขภาพดินดีอยู่เสมอ
 
    การตรวจสุขภาพดิน
 
 


การตรวจสุขภาพดิน คือ การตรวจสอบสมบัติของดินเพื่อวินิจฉัยว่า ดินนั้นเป็นดินที่มีสุขภาพดีหรือไม่ หรือว่าเป็นโรคใดๆ หรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบสุขภาพดินนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ การตรวจสอบสุขภาพทั่วไป และการตรวจสอบสุขภาพโดยการวิเคราะห์ดิน

   
 
การตรวจสอบสุขภาพโดยทั่วไป
   
 
     คือ การพินิจพิจารณาลักษณะดินโดยใช้สายตา การสัมผัส และการเปรียบเทียบ ว่าดินมีสมบัติหรือลักษณะใดที่บ่งชี้ถึงอาการเป็นโรคหรือไม่ และมีแนวโน้มว่าจะมีสุขภาพดีหรือไม่ การตรวจสอบสุขภาพโดยทั่วไปนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองได้ในบางส่วน โดยการขุดดินถึงระดับความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วดูลักษณะสีดิน สัมผัสเนื้อดิน ชนิดและปริมาณของกรวดในดิน สังเกตลักษณะโดยทั่วไปของบริเวณโดยรอบ แล้วเปรียบเทียบกับข้อมูลอาการของโรคดินแต่ละโรค ว่ามีลักษณะที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับโรคใด ทั้งนี้ หากไม่มั่นใจสามารถปรึกษาหมอดินอาสา หรือเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินได้ และหากว่าอาการป่วยของดินนั้นมีความซับซ้อนมากเกินจะใช้การวินิจฉัยโดยการเปรียบเทียบได้ ก็จะเป็นต้องได้รับการตรวจสอบสุขภาพโดยทั่วไปแบบสมบูรณ์ซึ่งจะดำเนินการโดยนักสำรวจดินอีกชั้นหนึ่ง
   
การตรวจสอบสุขภาพโดยการวิเคราะห์ดิน
  คือ การตรวจวิเคราะห์ดินโดยใช้น้ำยาและเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเก็บตัวอย่างดินอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและนำตัวอย่างดินนั้นส่งวิเคราะห์ โดยสามารถวิเคราะห์ได้ทั้งในระดับการวิเคราะห์พื้นฐาน คือ การวิเคราะห์หาธาตุอาหารหลักที่มีอยู่ในดิน ระดับความเป็นกรด-ด่าง และปริมาณเกลือที่ละลายได้ หรือการวิเคราะห์ในระดับสมบูรณ์ซึ่งจะวิเคราะห์หาปริมาณธาตุต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งการหาสมบัติทางกายภาพ และชีววิทยาของดินด้วย
   
 
 
 
 
 
 
 
 

:: กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์:: ๒๐๐๓/๖๑ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ ::