ดินดี ในทางการเกษตรนั้น หมายถึง ดินที่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดินมากนัก ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ที่จะทำให้เป็นอุปสรรคในการเพาะปลูก หรือในการเจริญเติบโตของพืช แต่ทั้งนี้ เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีความต้องการลักษณะของดินในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน การจะระบุว่าดินดีต้องมีสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ให้แน่นอนโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นๆ จึงทำไม่ได้ จำเป็นต้องระบุลักษณะดินดีไปตามลักษณะของชนิดพืช เช่น ดินดีสำหรับข้าว ควรจะเป็นดินที่มีการแช่ขังน้ำได้ ดินควรมีการระบายน้ำที่เลว มีความอุดมสมบูรณ์สูง ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของข้าว และไม่เหมาะสำหรับวัชพืชอื่นๆ จึงลดปัญหาด้านการจัดการวัชพืชไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับดินดีสำหรับข้าวโพดที่ต้องการการระบายน้ำที่ดี เพราะข้าวโพดทนสภาพน้ำแช่ขังไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ดินเดียวกันนั้นหากปลูกคนละช่วงฤดูกาล จากดินที่ไม่ดีก็กลับกลายเป็นดินที่ดีได้ เช่นดินที่ใช้ทำนาปลูกข้าว เมื่อถึงฤดูแล้งหน้าหนาวหลังเกี่ยวข้าวแล้ว หากไม่มีน้ำแช่ขังมากเกินไปจากดินที่ไม่ดีสำหรับข้าวโพด ก็จะกลายเป็นดินที่ดีสำหรับข้าวโพดได้เมื่อมีน้ำเพียงพอสำหรับข้าวโพด แม้กระทั่งพันธุ์ของพืชก็มีส่วนในการกำหนดความเป็นดินดีและดินไม่ดี อ้อยบางสายพันธุ์มีความอ่อนไหวมากหากมีน้ำแช่ขัง นั้นคือเมื่อมีน้ำแช่ขังมากจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและตายได้ ขณะที่บางสายพันธุ์สามารถเจริญเติบโตได้แม้มีสภาพน้ำแช่ขังในบางช่วงเวลาของการปลูก จะเห็นได้ว่าการจะระบุว่าดินใดคือดินดีหรือไม่นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม ชนิด และสายพันธุ์พืชร่วมด้วย ฉะนั้นคำแนะนำต่างๆ ในดินดีคลินิคนั้นจะพยายามคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชนิด และสายพันธุ์พืชด้วยเสมอ
:: กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์:: ๒๐๐๓/๖๑ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ ::