.. ยินดีต้อนรับ..สู่เว็บไซต์ที่จะช่วยให้ท่านมี..ดินดี..ไว้ในครอบครอง
 
    เกริ่นนำ...
 

     เมื่อเปรียบเทียบดินเป็นสิ่งมีชีวิต คือ มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย วัฏจักรของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ดิน คงเป็นดังนี้      แรกเริ่มเดิมทีนั้นพื้นผิวโลกไม่มีดินมาแต่แรก แต่เมื่อหินได้ผุพังสลายตัวผสมคลุกเคล้ากับเศษซากพืชซากสัตว์ จึงได้ก่อเกิดเป็นดิน ดินจึงเสมือนมีหินมีซากพืชซากสัตว์เป็นผู้ให้กำเนิดหรือเป็นบรรพบุรุษของดิน ต่อมาเมื่อผืนโลกมีดินปกคลุม แล้วก็มีการชะล้างพังทลายของดินไปตกเป็นตะกอนในพื้นที่ต่ำต่างๆ เมื่อมีการผสมคลุกเคล้ากับเศษซากพืชซากสัตว์แล้ว ก็ก่อให้เกิดดินในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นดินในที่ลุ่ม และไม่ว่าดินจะมีต้นกำเนิดมาจากหินหรือว่ามาจากตะกอนก็ตาม เมื่อดินได้เกิดขึ้นแล้วก็มีการเจริญเติบโต พัฒนา และแก่ขึ้นตามสภาพแวดล้อม ซึ่งหากว่าดินนั้นเกิดจากบรรพบุรุษเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นพี่เป็นน้องกัน แต่ไปเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ก็จะพัฒนาไปเป็นดินคนละชนิดกัน ดินนั้นมีอายุยืนเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นปี แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายถึงที่สุดแล้วดินก็เสื่อมสลายหรือพังทลาย จนในที่สุดก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรต่อไปได้อีก เช่น ดินเค็มจัด หรือพื้นที่หินโผล่ ซึ่งเปรียบเสมือนกับว่าดินนั้นได้ตายไปแล้ว... แล้วดินเจ็บป่วยเป็นอย่างไร?...

      ดินเจ็บป่วย คือ ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างปกติ ซึ่งสามารถแยกอาการป่วยได้สองประเภท คือ โรคที่เป็นแต่กำเนิด และโรคที่เกิดภายหลัง

 
  โรคที่เป็นแต่กำเนิด
   
ดินทรายจัด
ดินเค็ม
ดินแตกระแหง
ดินเปรี้ยวจัด
   
       โรคที่เป็นแต่กำเนิดนั้น มีสองลักษณะ คือ โรคที่เป็นเสมือนโรคทางพันธุกรรม สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษของดินนั้นไม่สมบูรณ์ดีพอ เช่น มีบรรพบุรุษเป็นหินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีองค์ประกอบเต็มไปด้วยทราย เป็นต้น
      อีกลักษณะหนึ่ง เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเกิดเป็นโรคประจำตัวที่เป็นจำเพาะกับดินชนิดหนึ่งๆ
   
  โรคที่เกิดภายหลัง
   
นาเกลือ
   
       โรคที่เกิดภายหลังนั้น คือ อาการป่วยที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ที่ดินของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการใช้งานดินไม่ถูกวิธีทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นภายในดินและทำให้เป็นปัญหาในการใช้ประโยชน์
   
       อาการของโรคบางชนิดของดินนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกำเนิด และเป็นผลอันเนื่องจากฝีมือมนุษย์ ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็นผู้ไปเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ จนทำให้ดินที่มีความเสี่ยงในการติดโรคอยู่แล้ว เกิดอาการป่วยขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เช่น โรคดินตื้น เดิมทีในสภาพป่านั้นดินไม่ได้ตื้น แต่เมื่อมนุษย์เข้าไปตัดไม้ทำลายป่าและหากพื้นที่นั้นอยู่ในพื้นที่สูงชัน ก็จะเกิดการชะล้างพังทลายของดินทำให้เกิดเป็นโรคดินตื้น ฉะนั้นอาการดินตื้นจึงอาจจะเป็นมาแต่กำเนิด (โดยธรรมชาติ) หรือเกิดขึ้นภายหลัง (โดยมนุษย์) ก็เป็นได้  ขณะเดียวกัน ดินบางชนิดก็มีโอกาสเป็นโรคได้มากกว่า 1 โรคในเวลาเดียวกัน เช่นดินในป่าชายเลน ซึ่งเป็นดินที่ป่วยเป็นโรคเค็ม และโรคดินน้ำแช่ขังตลอดเวลา เป็นต้น
   
      การวินิจฉัยโรคในดินดีคลินิคนั้น จะวินิจฉัยโรคตามอาการของโรค และให้คำแนะนำในการดูแลรักษา บรรเทาอาการของโรคเป็นส่วนๆ ไป
   
   
 
 
 
 
 

:: กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์:: ๒๐๐๓/๖๑ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ ::