การดำเนินงานพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้การทำงานของกรมพัฒนาที่ดิน
ปีพ.ศ. 2533 กรมพัฒนาที่ดินได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRC) ให้เป็นหน่วยงานประสานกับหน่วยราชการประเทศไทยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการ พื้นที่ชุ่มน้ำพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) ในรัศมี 50 กิโลเมตร จากริมฝั่งแม่น้ำโขง
ปีพ.ศ. 2534 กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับ MRC สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดทำระบบการจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำสำหรับพื้นที่ราบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
ปี พ.ศ. 2534 ประเทศไทยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก MRC ให้จัดทำระบบจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำสำหรับประเทศไทยขึ้น โดย MRCได้นำระบบการจำแนกของประเทศไทยไปใช้ในพื้นที่ราบลุ่มน้ำโขงตอนล่างจวบจนปัจจุบันภายหลังการนำเสนอผลการดำเนินงาน การจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำพื้นที่ราบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง กรมพัฒนาที่ดินได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินการสำรวจ และจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้นปีพ.ศ. 2536-2542กรมพัฒนาที่ดินเริ่มทำการสำรวจและจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำโดยใช้ระบบการจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำ ของประเทศไทยที่ได้จำแนกออกเป็น 4 ชั้น แต่ระบบดังกล่าวไม่สามารถระบุประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อใช้ในการทำแผนที่ได้อย่างสมบูรณ์
ปีพ.ศ.2543สำนักงานเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้จัดประชุมคณะทำงานการสำรวจจำแนกและจัดทำแผนที่แสดง ประเภทของ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่โขงตอนล่างอีกครั้งโดยให้กรมพัฒนาที่ดินในฐานะตัวแทนคณะทำงานดำเนินการปรับปรุงระบบ การจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย เพื่อพิจารณาใช้ให้เหมาะสมสำหรับการจัดทำแผนที่ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง กรมพัฒนาที่ดินจึงดำเนินการจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำตามระบบการจำแนกใหม่อีกครั้งในมาตราส่วน 1:50,000 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 จนแล้วเสร็จสิ้นทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2551 |