สมบัติทางกายภาพ : โครงสร้างของดิน
     
.....
 
โครงสร้างของดิน (soil structure)
 
โครงสร้างของดิน เป็นสมบัติของดินที่เกิดขึ้นจากการเกาะจับกันของอนุภาคที่เป็นของแข็งในดิน (ส่วนที่เป็นแร่ธาตุหรืออนินทรียสารและอินทรียวัตถุ) เกิดเป็นเม็ดดินหรือเป็นก้อนดินที่มีขนาด รูปร่าง และความคงทนแข็งแรงในการยึดตัวต่างๆกัน โครงสร้างของดินมีผลต่อการซึมผ่านของน้ำที่ผิวดิน การอุ้มน้ำ ระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศในดิน รวมถึงการแพร่กระจายของรากพืชด้วย

 
โครงสร้างดิน อาจเกิดจากแรงเกาะยึดกันระหว่างอนุภาคในดิน การที่ดินแห้งและเปียก การแข็งตัวเมื่อมีอากาศหนาวจัด หรือการละลายของหิมะ นอกจากนี้ รากพืช กิจกรรมของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน อินทรียวัตถุ และสารอื่นๆ ที่มีในดิน สามารถที่จะเป็นตัวเชื่อมให้เกิดโครงสร้างดินได้เช่นกัน
   
 
ดินทรายและดินเหนียว เป็นดินที่ไม่มีโครงสร้าง !!!
 
     ดินทราย แม้ว่าจะโปร่งและซุยก็จริง แต่เม็ดทรายกระจายอยู่เป็นเม็ดเดี่ยวๆ (single grain) ไม่มีการเกาะกันเป็นโครงสร้างแบบก้อนกลม จึงไม่มีสมบัติทางด้านการอุ้มน้ำที่ดี เมื่อฝนตกดินอุ้มน้ำได้น้อยจึงเกิดสภาพแห้งแล้งได้ง่าย พืชที่ปลูกจะขาดน้ำง่าย

ดินเหนียว อนุภาคเกาะกันแน่นเป็นก้อนทึบ (massive) อุ้มน้ำได้มากเมื่อฝนตก แต่จะแน่นทึบไม่โปร่งซุยเหมือนดินทราย ไถพรวนยาก การถ่ายเทและการระบายน้ำไม่ดี เกิดน้ำท่วมขัง รากพืชไม่สามารถเจริญเติบโตดูดน้ำและธาตุอาหารได้
 

     โครงสร้างของดินมีได้หลายลักษณะ แบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ

 
1. แบบก้อนกลม (granular)
มีรูปร่างคล้ายทรงกลม เม็ดดินมีขนาดเล็กประมาณ 1-10 มิลลิเมตร มักพบในดินชั้น A มีรากพืชปนอยู่มาก เนื้อดินมีความพรุนมาก ระบายน้ำและอากาศได้ดี
 
2. แบบก้อนเหลี่ยม (blocky)
มีรูปร่างคล้ายกล่อง เม็ดดินมีขนาดประมาณ1-5 เซนติเมตร มักพบในชั้นดิน B มีการกระจายของรากพืชปานกลาง น้ำและอากาศซึมผ่านได้
 
3. แบบแผ่น (platy)
ก้อนดินแบนวางตัวในแนวราบ และซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้น ขัดขวางการชอนไชของรากพืช น้ำและอากาศซึมผ่านได้ยาก มักเป็นดินชั้น A ที่ถูกบีบอัดจากการบดไถของเครื่องจักรกล
 
4. แบบแท่งหัวเหลี่ยม (prismatic)
มีผิวหน้าแบนและเรียบ เป็นแท่งหัวเหลี่ยมคล้ายปริซึม ส่วนบนของปลายแท่งมักมีรูปร่างแบน เม็ดดินมีขนาด 1-10 เซนติเมตร มักพบในดินชั้น B น้ำและอากาศซึมได้ปานกลาง

 

 
5. แบบแท่งหัวมน (columnar)
ส่วนบนของปลายแท่งมีลักษณะกลมมน ปกคลุมด้วยเกลือ เม็ดดินมีขนาด 1-10 เซนติเมตร มักพบในดินชั้น B และเกิดในเขตแห้งแล้ง มีการสะสมของโซเดียมสูง
 
โครงสร้างดิน เป็นสมบัติที่เปลี่ยนแปลงสภาพได้ง่าย ในดินที่มีการใช้ปลูกพืชมานาน โครงสร้างดินย่อมเสื่อมลง เนื่องมาจากปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่ลดลง หรือเกิดความแน่นทึบ เนื่องจากการไถพรวนบ่อยๆ ด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ รวมทั้งการเสียดสีกับเครื่องมือเกษตรกรรม และการปะทะของเม็ดฝนที่ตกลงมาด้วย
 

 

....
   กลับหน้าหลัก
:: สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน   กรมพัฒนาที่ดิน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ::   
๒๐๐๓/๖๑  ถนนพหลโยธิน  เขตจตุจักร  กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐

โทร. ๐๒๕๖๒ ๕๑๐๐ ต่อ ๑๓๖๗, ๑๓๓๙