ดินที่มีการผุพังอยู่กับที่สูง...ออกซิซอลล์ (Oxisols)
ชุดดินท่าใหม่

 

   ออกซิซอลส์ เป็นดินที่มีการสะสมออกไซด์ของเหล็กและอะลูมินัม หรือที่เรียกกันว่า เซสควิออกไซด์ในปริมาณสูง เกิดจากกระบวนการผุพังอยู่กับที่อย่างรุนแรงหรือผ่านกระบวนการเกิดดินมานาน ลักษณะที่สำคัญของดินในอันดับนี้คือ เป็นดินสีออกแดงจัด เหลือง หรือเทา เนื้อดินเป็นดินเหนียวค่อนข้างจัดหรือจัด แต่มีโครงสร้างดีมาก ดินมีความร่วนซุยสูง และมีความสม่ำเสมอภายในหน้าตัดดินมาก กล่าวคือจะมีลักษณะต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันตลอดหน้าตัดดิน ทำให้การแจกแจงชั้นกำเนิดดินทำได้ยาก

     ออกซิซอลส์มักเกิดอยู่ในบริเวณที่พื้นที่ค่อนข้างเสถียร มีความลาดชันน้อย ในเขตที่สภาพของอากาศมีความชื้นสูง ซึ่งเอื้ออำนวยให้กิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการออกซิเดชันภายในดินดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้องค์ประกอบที่พบในดินส่วนใหญ่เป็นสารที่มีกิจกรรมต่ำ ได้แก่ แร่ควอร์ซต์ แร่ดินเหนียวชนิดเคโอลิไนต์ ออกไซด์ของเหล็กและอะลูมินัม และ อินทรียวัตถุ จัดเป็นดินที่มีลักษณะทางกายภาพดี แต่มักมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

ในประเทศไทย พบดินนี้แจกกระจายอยู่เป็นพื้นที่น้อยมากส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณขอบตะวันออกของชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ เช่นจังหวัดจันทบุรี และตราด และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่จังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ชุดดินที่รู้จักกันดี คือ ชุดดินท่าใหมชุดดินหนองบอน และชุดดินโชคชัย

     ดินออกซิซอลส์ที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นดินลึก เนื้อดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวถึงดินร่วนปนดินเหนียว สีน้ำตาลจนถึงสีแดงเข้ม การจัดเรียงตัวของชั้นกำเนิดเป็นแบบ A-Bo หรือ A-Bo-Bt ลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี คือมีโครงสร้างที่ดี มีการซาบซึมน้ำดี ไม่มีชั้นดาน หรือการอัดตัวแน่นของดินที่เป็นอุปสรรคต่อการไชชอนของรากพืช แต่มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากมีเหล็กออกไซด์เป็นองค์ประกอบอยู่สูง ทำให้มีความจุในการอุ้มน้ำต่ำ เก็บกักน้ำไม่ได้ และสูญเสียความชื้นในดินได้รวดเร็ว ดินจะแห้งได้ง่าย อาจเกิดปัญหาการขาดน้ำได้ง่ายในช่วงแล้ง ออกซิซอลส์ที่พบในประเทศไทยจัดว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่และไม้ผล




  ...กลับหน้าระบบอนุกรมวิธานดิน....