ดินอินทรีย์...ฮิสโทซอลล์ (Histosols)

 

ชุดดินนราธิวาส

 

   ฮิสโทซอลส์ เป็นดินที่มีลักษณะการเกิดและสมบัติโดยทั่วไปแตกต่างจากดินในอันดับอื่นๆ มาก เนื่องจากเป็นดินที่เกิดจากการทับถมของอินทรียสาร ในสภาพแวดล้อมที่เป็นแอ่งต่ำปิด มีน้ำขังอย่างต่อเนื่องหรือเกือบต่อเนื่องตลอดเวลา หรืออาจจะเกิดในบริเวณที่สูงชันหรือตามแนวน้ำซับที่มีน้ำพอเพียงที่จะเกิดสภาวะที่สามารถปิดกั้นกิจกรรมของออกซิเจนที่จะเกิดขึ้นกับดิน ทำให้กระบวนการผุพังเน่าเปื่อยและการเปลี่ยนแปลงเป็นแร่ธาตุของอินทรียวัตถุเกิดขึ้นช้ากว่ากระบวนการสะสมของอินทรียสาร ซึ่งจะเกิดเป็นชั้นสะสมที่หนา โดยการทับถมจะเกิดขึ้นจากตอนล่างขึ้นมาสู่ตอนบน ดังนั้นฮิสโทซอลส์จึงเป็นดินที่ไม่ถูกจำกัดโดยสภาพภูมิอากาศหรือชั้นช่วงลึกที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่จะถูกจำกัดโดยวัตถุต้นกำเนิดของดินซึ่งต้องเป็นวัสดุอินทรีย์เท่านั้น

 

 

     ลักษณะเด่นของดินในอันดับนี้คือ เป็นดินที่มีองค์ประกอบเชิงอินทรีย์เป็นปริมาณที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับองค์ประกอบเชิงแร่ธาตุในดิน โดยปรกติจะมีอินทรีย์ตาร์บอนมากกว่า 200 กรัมต่อกิโลกรัมของดิน ในทางกายภาพจัดเป็นดินที่มีความจุในการอุ้มน้ำสูง น้ำที่อยู่ในดินมีทั้งที่อยู่ในช่องว่างขนาดใหญ่และในช่องว่างขนาดเล็กมากที่พืสามารถนำไปใช้ได้ยาก โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายๆฟองน้ำที่สามารถรับน้ำเข้าและปล่อยน้ำออกไปได้ สามารถหดตัวได้มากเมื่อแห้ง มีความพรุนสูง และความหนาแน่นรวมต่ำ ในสภาพที่ไม่มีการใช้ที่ดินอินทรียสารจะคงลักษณะเดิมอยู่เป็นเวลานาน แต่หากมีการระบายน้ำออกและมีการใช้ที่ดิน อัตราการเน่าเปื่อยจะเร็วมาก อินทรียสารจะสูญหายไปได้ง่าย และอาจเกิดภาวะดินเป็นกรดจัด

    ลักษณะที่แตกต่างกันของดินในอันดับฮิสโทซอลส์ที่เกิดขึ้นในแต่ละบริเวณนั้นขึ้นอยู่กับขั้นการสลายตัวของอินทรียสาร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต่างของสี องค์ประกอบของสารเส้นใย โครงสร้าง การยึดตัว และความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เป็นต้น ในประเทศไทยที่พบมีอยู่ 2 ชุดดิน คือ ชุดดินนราธิวาส (Nw) และชุดดินกาบแดง (Kd) มีรายละเอียดดังนี้

 

 

ชุดดินนราธิวาส (Nw)

 

     ชุดดินนราธิวาส เป็นดินที่เกิดในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีการแช่ขังของน้ำเป็นเวลานาน สภาพพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าพรุ ในบริเวณที่ป่าเดิมถูกทำลาย จะพบกระจูด เฟิร์น และเสม็ดขึ้นอยู่ทั่วไป ลักษณะการพัฒนาชั้นดินเป็นแบบ Oi-Cg สัณฐานวิทยาของดินนี้มีชั้นดินตอนบนเป็นอินทรียวัตถุที่มีความหนามากกว่า 130 เซนติเมตร ส่วนชั้นดินอินทรีย์บนตอนล่างส่วนใหญ่ประกอบด้วยวัสดุไฟบริก ซึ่งเป็นวัสดุดินอินทรีย์ที่มีการสลายตัวน้อยที่สุด โดยมีสารเส้นใยมากกว่าร้อยละ 75 มีเศษกิ่งไม้และต้นไม้ต่างๆ กระจายกันอยู่ทั่วไป ส่วนในชั้นดินล่างลงไปจากชั้นที่เป็นอินทรียวัตถุ เป็นเลนจากตะกอนภาคพื้นสมุทร สีเทาปนน้ำเงิน เมื่อระบายน้ำออกปฏิกิริยาดินจะเป็นกรดจัด และเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ    


 

ชุดดินกาบแดง (Kd)

 

   ชุดดินกาบแดง มีสภาพการเกิดโดยทั่วไปคล้ายกับชุดดินนราธิวาส แต่มีขั้นพัฒนาการที่สูงกว่า มีชั้นดินบนเป็นวัสดุอินทรีย์ ที่มีความหนามากกว่า 40 เซนติเมตร แต่ไม่หนากว่า 130 เซนติเมตร องค์ประกอบส่วนใหญ่ในชั้นดินอินทรีย์บนตอนล่างเป็นวัสดุเฮมิก ซึ่งเป็นวัสดุอินทรีย์ทีมีการสลายตัวขั้นปานกลาง สมบัติทางเคมีโดยทั่วไปไม่ต่างจากชุดดินนราธิวาสมากนัก แต่จะมีความจุในการแลกเปลี่ยนแคตไอออน และร้อยละความอิ่มตัวเบสสูงกว่า

 

 

  ...กลับหน้าระบบอนุกรมวิธานดิน....