เอนทิซอลส์ เป็นดินที่มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า
ไม่มีพัฒนาการ หรือมีพัฒนาการของชั้นดินเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมีเวลาน้อยเกินไปที่จะทำให้เกิดพัฒนาการ
หรืออยู่ในบริเวณสูงชันซึ่งมีกษัยการเกิดอยู่ตลอดเวลา หรืออาจจะอยู่ในบริเวณที่ลุ่มซึ่งได้รับอิทธิพลของการตกตะกอนทับถมในระยะเวลาที่ถี่มากจนไม่สามารถเกิดพัฒนาการของชั้นดินขึ้นได้
ลักษณะหน้าตัดดินที่พบอาจเป็นแบบ Apg-Cg, Ag-Cg, Apg-Cg-2Cg, Ag-Cg-2Cg,
Ap-Cr, Ap-C
เอนทิซอลส์ที่พบในประเทศไทย พบหลายลักษณะด้วยกันทั้งที่เป็นดินที่ลุ่ม
และบริเวณที่เป็นที่ดอน แบ่งได้เป็น 4 ลักษณะตามสภาพแวดล้อมในการเกิดดิน
สรุปได้ดังนี้
เอนทิซอลส์ในบริเวณที่ลุ่มต่ำที่ยังคงมีอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำทะเล
ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏในหน้าตัดดินมักจะเกี่ยวข้องกับความเปียก และสภาพที่ดินมีการขังน้ำในช่วงหนึ่งของปี
ลักษณะดินจะเป็นดินเนื้อละเอียดที่มีการยึดตัวไม่ดีนัก ดินจะเหลวเละ
เนื่องจากมีปริมาณของน้ำเป็นองค์ประกอบมาก หรือมีปัจจัยน้ำ (n-value)
สูง บางแห่งมีปัญหาเรื่องความเค็มเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากเกลือสูง
หรือ บางบริเวณที่มีวัสดุซัลไฟด์ปริมาณที่มากพอ มีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นดินเปรี้ยวหรือดินกรดจัดได้หากมีการระบายน้ำออก
ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาการปลูกพืช
เอนทิซอลส์ที่เกิดจากตะกอนน้ำพาในบริเวณที่ราบน้ำท่วม
สันดินริมน้ำธรรมชาติ และที่เนินตะกอนน้ำพารูปพัด ลักษณะดินที่เกิดขึ้นจะมีความแตกต่างกันออกไป
ขึ้นอยู่กับลักษณะของตะกอนที่เป็นวัตถุต้นกำเนิด ประกอบกับตำแหน่งของการตกตะกอน
เนื้อดินพบได้ตั้งแต่เป็นทรายจัดจนถึงเป็นดินเหนียว มีโครงสร้างค่อนข้างเลว
และมีการยึดตัวขึ้นอยู่กับลักษณะของตะกอน ส่วนใหญ่เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดี
มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง มีความอิ่มตัวเบส (base saturation) และความจุในการแลกเปลี่ยนแคตไอออน
(cation exchange capacity) สูง มีฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์สูง
นอกจากนี้ยังมีเบสิกแคตไอออน (basic cation) หลงเหลืออยู่ในระบบมาก
ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพที่มีน้ำขังและมีการสะสมตัวของตะกอนที่มีแร่ที่สลายตัวง่ายเป็นองค์ประกอบ
ยกเว้นเอนทิซอลส์ที่เกิดบริเวณสันดินริมน้ำ (levee) ที่ดินจะมีลักษณะหยาบกว่า
และแสดงการสูญเสียได้เร็วกว่า สมบัติทางเคมีโดยรวมจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าดินที่เกิดอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่ม
เช่น ชุดดินสรรพยา เชียงใหม่ ท่าม่วง มูโนะ ระแงะ
เป็นต้น
เอนทิซอลส์ที่เป็นทรายจัด
เกิดในบริเวณที่วัตถุต้นกำเนิดเป็นทรายจัด เช่น เนินทราย
สันทรายพบได้ทั่วไปทั้งในส่วนที่เป็นทวีป และบริเวณชายฝั่งทะเล ลักษณะดินมักจะไม่มีโครงสร้างหรือมีโครงสร้างอ่อนมาก
เนื้อดินเป็นทรายจัด มีกลุ่มอนุภาคขนาดอื่นๆ ปนอยู่น้อยมาก ดินอาจจะมีการระบายน้ำดีหรือเลวก็ได้
ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ แต่ในที่ดอนมักจะมีการระบายน้ำดีเกินไป
และมีการแทรกซึมน้ำเร็วมาก ดินอุ้มน้ำได้ต่ำ มีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำได้มากในสภาพการเกษตรปัจจุบัน
คุณสมบัติทางเคมี และความอุดมสมบูรณ์ของดินในกลุ่มนี้โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
เนื่องจากวัตถุที่เป็นองค์ประกอบของดินส่วนใหญ่เป็นแร่ควอร์ตซ์ในกลุ่มอนุภาคขนาดทราย
ซึ่งสลายตัวยากและ ไม่มีธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อพืชนัก ดินในกลุ่มนี้มีอยู่มากมายหลายชนิด
และครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น ชุดดิน
บาเจาะ พัทยา ไม้ขาว ระยอง สัตหีบ หัวหิน หลังสวน
ดงตะเคียน บ้านบึง อุบล เป็นต้น
เอนทิซอลส์ที่อยู่ในบริเวณไหล่เขาที่มีความลาดชันสูง
มีโอกาสเกิดกษัยการในอัตราเร่งสูง ทำให้พัฒนาการของดินไม่เร็วพอที่จะเกิดลักษณะเด่นขึ้น
การสูญเสียหน้าดินอยู่เสมอ ทำให้ลักษณะดินที่พบเป็นดินตื้น เนื้อดินมักมีกรวดซึ่งเป็นเศษหินวัตถุต้นกำเนิดปะปนอยู่
จัดเป็นดินที่มีสมบัติทางกายภาพและเคมีเลว ไม่เหมาะสมต่อการผลิตพืช
ตัวอย่างเช่น ชุดดิน ระนอง ห้วยยอด
|