ดินที่มีด่างสูง...แอลฟิซอลล์ (Alfisols)

ชุดดินกำแพงแสนชุดดินมวกเหล็ก

 

     แอลฟิซอลล์ เป็นดินที่มีพัฒนาการปานกลางถึงค่อนข้างดี มีลักษณะการสะสมดินเหนียวในชั้นดินล่าง ลักษณะทั่วๆไปคล้ายกับดินในอันดับอัลทิซอลส์ (Ultisols) แต่ต่างกันที่แอลฟิซอลส์มีพัฒนาการน้อยกว่า และมีสภาพการชะล้างต่ำกว่าทำให้ธาตุที่เป็นด่างยังคงเหลืออยู่มากในหน้าตัดดิน โดยเฉพาะในชั้นดินล่าง และมีความอิ่มตัวเบสมากกว่าร้อยละ 35

      ดินอันดับนี้มักพบบนผิวหน้าสภาพภูมิประเทศที่ค่อนข้างใหม่ พื้นที่มีเสถียรมาเป็นเวลานานพอสมควร โดยไม่มีการรบกวนดิน ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่ชื้นพอที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายวัสดุต่างๆ ภายในดิน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแล้งพอที่จะจำกัดการเคลื่อนย้ายของวัสดุที่เป็นด่างไม่ให้ออกไปพ้นจากหน้าตัดดินได้ จะไม่พบดินนี้ในบริเวณที่พื้นที่มีความลาดชันสูงมากๆ ที่ราบตะกอนน้ำพา และในแอ่งต่ำที่มีการระบายน้ำเลวมาก

     แอลฟิซอลส์ในประเทศไทยพบเป็นบริเวณกว้างขวาง ทั้งในบริเวณที่เป็นที่ลุ่มและที่ดอน โดยเฉพาะในเขตที่มีฝนไม่ชุก มีความแตกต่างของความชื้นระหว่างฤดูฝนกับฤดูแล้งอย่างชัดเจน ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนแดง แต่อาจพบว่าดินมีสีเหลือง แดง คล้ำหรือออกสีเทาได้ เนื้อดินมีได้หลายแบบ แต่ที่สำคัญต้องแสดงลักษณะการสะสมของอนุภาคขนาดดินเหนียวที่เข้าเกณฑ์การเป็นชั้นดินล่างวินิจฉัยอาร์จิลลิกในชั้นดินตอนล่าง พัฒนาการของหน้าตัดดินอาจเป็นแบบ Ap-Bt, Apg-Btg-BCg หรือ Ap-Bt-BC-C จากการที่ยังคงมีธาตุประจุบวกที่เป็นด่างเหลืออยู่ในระบบดินมากพอจึงทำให้ แอลฟิซอลส์เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดี มีศักยภาพในการใช้เพื่อการเกษตร แต่มีข้อควรระวังอยู่บ้างเนื่องจากพัฒนาการของโครงสร้างดินในชั้นอาร์จิลลิกยังไม่ดีพอ ทำให้อัตราการแทรกซึมน้ำระหว่างดินบนและดินล่างมีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดกษัยการได้ง่ายโดยเฉพาะในบริเวณที่มีความลาดชัน


  ...กลับหน้าระบบอนุกรมวิธานดิน....