กลับหน้าแรก  
..โครงสร้างของดิน..
  ผังเว็บไซต์
 
4. โครงสร้างของดิน
 
   
   
โครงสร้างของดิน... เป็นสมบัติทางกายภาพของดิน ที่เกิดขึ้นจากการเกาะจับกันของอนุภาคที่เป็นของแข็งในดิน (ส่วนที่เป็นแร่ธาตุหรืออนินทรียวัตถุและอินทรียวัตถุ) เกิดเป็นเม็ดดินหรือเป็นก้อนดินที่มีขนาด รูปร่าง และความคงทนแข็งแรงในการยึดตัวต่างๆ กัน เช่น เป็นก้อนกลม ก้อนเหลี่ยม เป็นแท่ง หรือเป็นแผ่นบาง
   
 

โครงสร้างของดินมีความสำคัญต่อ การซึมผ่านของน้ำ การอุ้มน้ำ การระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศในดิน รวมถึงการแพร่กระจายของรากพืชด้วย

ดินที่มีโครงสร้างดี มักจะมีลักษณะร่วนซุย อนุภาคเกาะกันหลวมๆ มีปริมาณช่องว่างและความต่อเนื่องของช่องว่างในดินดี ทำให้มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชสามารถชอนไชไปหาอาหารได้ง่าย โครงสร้างดินที่แข็งแรงถูกทำลายได้ยาก ก็จะทำให้ดินถูกชะล้างพังทลายได้ยากเช่นกัน


!! ดินในธรรมชาติ....ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างเสมอไป

ดินหลายชนิดได้ชื่อว่าเป็นดินไม่มีโครงสร้าง เช่น
ดินทราย... แม้ว่าจะโปร่งและซุยก็จริง แต่เม็ดทรายกระจายอยู่เป็นเม็ดเดี่ยวๆ (single grain) ม่มีการเกาะกันเป็นโครงสร้าง จึงไม่มีสมบัติทางด้านการอุ้มน้ำที่ดี เมื่อฝนตกดินอุ้มน้ำได้น้อยจึงเกิดสภาพแห้งแล้งได้ง่าย พืชที่ปลูกจะขาดน้ำง่าย
ดินเหนียว อนุภาคเกาะกันแน่นเป็นก้อนทึบ (massive) อุ้มน้ำได้มากเมื่อฝนตก แต่จะแน่นทึบไม่โปร่งซุยเหมือนดินทราย ไถพรวนยาก การถ่ายเทและการระบายน้ำไม่ดี เกิดน้ำท่วมขัง รากพืชไม่สามารถเจริญเติบโตดูดน้ำและธาตุอาหารได้
   
 
.....
 

     โครงสร้างของดินมีได้หลายลักษณะ แบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ

 
1. แบบก้อนกลม (granular)
มีรูปร่างคล้ายทรงกลม เม็ดดินมีขนาดเล็กประมาณ 1-10 มิลลิเมตร มักพบในดินชั้นบนที่คลุกเคล้าด้วยอินทรียวัตถุ โครงสร้างประเภทนี้ จะเกิดช่องว่างขนาดใหญ่ ขึ้นระหว่างเม็ดดิน ทำให้ดินมีความพรุนมาก สามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี
 
2. แบบก้อนเหลี่ยม (blocky)
มีรูปร่างคล้ายกล่อง เม็ดดินมีขนาดประมาณ 1-5 เซนติเมตร มักพบในดินชั้นล่าง โครงสร้างประเภทนี้ จะมีสภาพที่น้ำและอากาศซึมได้ในเกณฑ์ปานกลาง
 
3. แบบแผ่น (platy)

 

ก้อนดินมีรูปร่างแบน วางตัวในแนวราบ และซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้น มักพบในดินชั้นบนที่ถูกบีบอัด จากการบดไถของเครื่องจักรกล โครงสร้างดินลักษณะนี้จะขัดขวางการไหลซึมของน้ำ การระบายอากาศและการชอนไชของรากพืช

 
4. แบบแท่งหัวเหลี่ยม (prismatic)
ก้อนดินมีรูปร่างเป็นแท่ง มักพบในชั้นดินล่างของดินบางชนิด โดยเฉพาะดินเค็มที่มีการสะสมโซเดียมสูงๆ หน่วยโครงสร้างแบบนี้มักมีขนาดใหญ่ คือมีความยาว 10-100 มิลลิเมตร เรียงตัวกันในแนวตั้ง ถ้าส่วนบนของปลายแท่งมีรูปร่างแบนราบ

 

 
5. แบบแท่งหัวมน (columnar)
ส่วนบนของปลายแท่งมีลักษณะโค้งมน ปกคลุมด้วยเกลือ เม็ดดินมีขนาด 1-10 เซนติเมตร พบในดินชั้นล่าง ของดินที่เกิดในเขตแห้งแล้ง และมีการสะสมของโซเดียมสูง ดินที่มีโครงสร้างลักษณะนี้มักจะมีสภาพให้น้ำซึมได้น้อยถึงปานกลาง
 
โครงสร้างดิน เป็นสมบัติที่เปลี่ยนแปลงสภาพได้ง่าย ในดินที่มีการใช้ปลูกพืชมานาน โครงสร้างดินย่อมเสื่อมลง เนื่องมาจากปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่ลดลง หรือเกิดความแน่นทึบ เนื่องจากการไถพรวนบ่อยๆ ด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ รวมทั้งการเสียดสีกับเครื่องมือเกษตรกรรม และการปะทะของเม็ดฝนที่ตกลงมาด้วย

 

....