กลับหน้าแรก  
...สมบัติที่สำคัญๆของ..ดิน..
  ผังเว็บไซต์
   
7. สิ่งมีชีวิตในดิน
   
 
สิ่งมีชีวิตในดิน.. เป็นสมบัติทางชีวภาพของดิน ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาศัยอยู่บนดินและในดิน
 

แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ พืช / สัตว์ / จุลินทรีย์ดิน

   
 
  พืช
 

พืชมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อดิน และสิ่งมีชีวิตในดิน เนื่องจากทำหน้าที่ กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ มาสร้างเป็นสารอินทรีย์ โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง ต่อมาเมื่อส่วนต่างๆ ของพืชหลุดร่วงหรือตายทับถม และผ่านกระบวนการย่อยสลายจนกลายเป็นสารอินทรีย์ต่างๆ สารเหล่านี้ก็จะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายในดิน ที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ต่อเนื่องไปอีกมาก และเป็นแหล่งสำคัญของธาตุอาหารพืชหลายชนิด เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและกำมะถัน

นอกจากนี้การที่พืชเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านใบ และหยั่งรากลึกลงไปดิน ยังก่อให้เกิดผลกระทบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในดินอีกหลายอย่าง เช่น การเกิดช่องว่างในดินจากการไชชอนของราก การเคลื่อนที่ของน้ำและอากาศ การหมุนเวียนของธาตุอาหาร การผุพังสลายตัวของหินกลายเป็นดิน การซึมชะ การป้องกันการสูญเสียหน้าดิน เป็นต้น

   
  สัตว์ในดิน

ดินเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด เช่น มด ปลวก แมลงต่างๆ กิ้งกือ ตะขาบ ไส้เดือน ตุ่น งู เป็นต้น

บทบาทหลักของสัตว์ในดินส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับการขุดคุ้ยเพื่อหาอาหาร หรือเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงการกัดย่อยชิ้นส่วนของราก หรือเศษซากต่างๆ

กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดินได้ การสร้างรัง และการขุดคุ้ยไชชอนดินของมด ปลวก แมลง หรือไส้เดือนดิน เป็นการพลิกดินโดยธรรมชาติ ช่วยผสมคลุกเคล้าอินทรียวัตถุในดิน หรือช่วยผสมคลุกเคล้าดินบนกับดินล่าง และนำแร่ธาตุจากใต้ดินขึ้นมาบนผิวดิน ทำให้เกิดช่องว่างในดิน ซึ่งส่งผลให้ดินโปร่งมีการถ่ายเทอากาศดี ปลวกและไส้เดือน ยังมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายเศษอาหาร ซากพืชและสัตว์ให้มีขนาดเล็กลง จนเป็นอนุภาคขนาดจิ๋วๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ดินต่อไป

   
  จุลินทรีย์ดิน

จุลินทรีย์ดิน หมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องด

มีหลายชนิดทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ เช่น แบคทีเรีย แอคทีโนมัยซิส รา โปรโตซัว ไวรัส จุลินทรีย์ดินมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ การแปรสภาพสารอินทรีย์และอนินทรีย์ การตรึงไนโตรเจน การย่อยสลายสารเคมี ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติต่างๆ ของดิน ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมในดินเกิดสมดุล