m32
ดินตื้นที่พบชั้นหินพื้นภายในความลึก 50 ซม.จากผิวดิน พบในพื้นที่ดอนเขตดินชื้น
(กลุ่มชุดดินที่ 51)
           
ชุดดินคลองเต็ง
ชุดดินระนอง
ชุดดินนยี่งอ
ชุดดินห้วยยอด
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินตื้นที่พบชั้นหินพื้นภายในความลึก 50 ซม.จากผิวดิน เกิดจากเคลื่อนย้ายหรือเกิดอยู่กับที่ พบในสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยถึงเป็นเนินเขา พบในเขตที่มีฝนตกชุก เนื้อดินเป็นดินร่วนปนเศษหินมากหรือมีเศษหินมากกว่าร้อยละ 35 โดยปริมาตร อาจจะมีหินพื้นโผล่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปที่บริเวณผิวหน้าดิน ดินมีสีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีแดง การระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดปานกลาง
     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินห้วยยอด (Ho) ชุดดินคลองเต็ง (Klt) ชุดดินระนอง (Rg) และชุดดินยี่งอ (Yg)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    ดินตื้นถึงชั้นหินพื้น มีเศษหินและหินพื้นโผล่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปที่บริเวณผิวหน้าดิน เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช
     ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ และในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงมากจะเกิดการชะล้างทลายสูญเสียหน้าดินรุนแรงมาก เกิดเป็นพื้นที่หินโผล
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
    ไม่ค่อยเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจทุกชนิด เนื่องจากเป็นดินตื้น และมีกรวดและเศษหินปะปนในดิน      สภาพภูมิประเทศมีความลาดชันสูง แต่ถ้ามีการพัฒนาหรือการจัดการที่เหมาะสม ก็ใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ยางพารา ไม้ผลบางชนิดและพืชไร่บางชนิดได้
     ในพื้นที่ที่มีความลาดชันน้อย เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงต่อระบบนิเวศควรสงวนไว้และฟื้นฟูสภาพป่า
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
     ในพื้นที่ที่มีเศษหินหรือพื้นโผล่มาก ไม่เหมาะสมต่อการเกษตร ควรใช้ปลูกไม้ใช้สอยโตเร็วหรือสร้างสวนป่า และหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ที่มีความลาดชันสูงเพราะว่าเมื่อหน้าดินสูญหายจะทำให้หินพื้นโผล่ พืชขึ้นไม่ได้ จึงควรสงวนไว้ให้เป็นป่าหรือในพื้นที่ทิ้งร้าง ควรสร้างสวนป่า
 
    การปลูกพืชไร่ หรือพืชผัก
     เลือกใช้พื้นที่ที่มีหน้าดินหนามากกว่า 25 ซม. ไม่มีเศษหินหรือหินพื้นโผล่ ทำการไถพรวนน้อยที่สุด และควรมีการจัดระบบการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปีโดยมีการปลูกพืชบำรุงดินร่วมอยู่ด้วย
     ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 3-4 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบ โดยหว่านเมล็ดถั่วพร้าอัตรา 10-12 กก./ไร่ หรือเมล็ดถั่วพุ่มอัตรา 8-10 กก./ไร่ หรือปอเทืองอัตรา 6-8 กก./ไร่ ไถกลบระยะออกดอก ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืช      ใส่ปุ๋ยปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.2 ร่วมกับปุ๋ยเคมีให้เหมาะสมตามชนิดพืชที่ปลูก
     จัดระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมตามสภาพความลาดชันของพื้นที่ เช่น ไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับ ปลูกพืชปุ๋ยสด วัสดุคลุมดิน ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชสลับเป็นแถบ ทำแนวรั้วหญ้าแฝก เป็นต้น (ตารางผนวกที่ 3.1-3.4)
     พัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบการชลประทานและระบบการให้น้ำในพื้นที่ปลูก
 
     การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้น
     เลือกใช้พื้นที่ที่มีหน้าดินหนามากกว่า 25 ซม. และไม่มีเศษหินหรือหินพื้นโผล่      ทำการไถพรวนน้อยที่สุดและเลือกชนิดพืชที่ใช้ปลูกให้เหมาะสมกับศักยภาพของดินและสภาพพื้นที่
     ขุดหลุมปลูกขนาด 75x75x75 ซม. หรือถึงชั้นหิน ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยหน้าดินที่ไม่มีเศษหินหรือก้อนหิน ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 50 กก./หลุม และใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด. 2 ร่วมกับปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก
ควรมีไม้ค้ำยันเมื่อไม้ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น และเอาหน้าดินบริเวณใกล้เคียงมาผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกพูนโคนอยู่เป็นประจำเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงทำให้ต้นไม่ล้มง่าย
     มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยวิธีกล และวิธีพืช ที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ (ตารางผนวกที่ 3.1-3.4)
     พัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน และจัดระบบการให้น้ำ
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...