m30
ดินทรายหนา พบในพื้นที่ดอนเขตดินชื้น
(กลุ่มชุดดินที่ 43)
           
ชุดดินหัวหิน
ชุดดินบาเจาะ
ชุดดินระยอง
ชุดดินหลังสวน
ชุดดินพัทยา
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินทรายหนามากกว่า 100 ซม. ที่เกิดจากการสลายตัวของหินเนื้อหยาบ ตะกอนน้ำหรือตะกอนทรายชายทะเล พบในเขตที่มีฝนตกชุก สภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงเป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยเนื้อดินเป็นดินทรายหรือดินทรายปนดินร่วน ดินบนมีสีน้ำตาล ดินล่างมีสีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีแดง การระบายน้ำดีถึงค่อนข้างมาก ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำถึงต่ำมาก ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกลาง

     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินบาเจาะ (Bc) ชุดดินดงตะเคียน (Dt) ชุดดินหัวหิน (Hh) ชุดดินหลังสวน (Lan) ชุดดินไม้ขาว (Mik) ชุดดินพัทยา (Py) ชุดดินระยอง (Ry) และชุดดินสัตหีบ (Sh)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    เนื้อดินเป็นทรายจัด มีความสามารถในอุ้มน้ำและดูดซับธาตุอาหารได้น้อยดินมีการระบายน้ำดีจนเกินไป พืชที่ปลูกมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำได้ง่าย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ      ในพื้นที่ที่มีความลาดชันจะเกิดการชะล้างทลายสูญเสียหน้าดินง่ายมากและเกิดร่องขึ้นทั่วไปบนพื้นที่
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจบางชนิด เช่น มะม่วงหิมพานต์ สับปะรด และพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีข้อจำกัดเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ และเกิดการชะล้างสูญเสียหน้าดินรุนแรงในพื้นที่ลาดชัน
     ไม่ค่อยเหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ยางพารา โกโก้ เนื่องจากเป็นดินทรายหนา และไม่เหมาะกับการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่ราบเรียบ และการระบายน้ำดี ทำให้ยากต่อการกักเก็บน้ำ
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
    การปลูกพืชไร่ หรือพืชผัก
     ควรมีการจัดระบบการปลูกพืชให้หมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยให้มีการปลูกพืชบำรุงดินร่วมอยู่ด้วย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์
     ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 3-4 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบ โดยหว่านเมล็ดถั่วพร้าอัตรา 10-12 กก./ไร่ หรือเมล็ดถั่วพุ่มอัตรา 8-10 กก./ไร่ หรือปอเทืองอัตรา 6-8 กก./ไร่ ไถกลบระยะออกดอก ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืชไร่ หรือพืชผัก
     มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกลหรือวิธีพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับ ปลูกพืชปุ๋ยสด วัสดุคลุมดิน ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชสลับเป็นแถบ หรือใช้โดยวิธีกลร่วมกับวิธีพืช
     จัดระบบการชลประทานและระบบการให้น้ำในพื้นที่ปลูก
 
     การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้น
    ขุดหลุมปลูกขนาด 75x75x75 ซม. ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 25-50 กก./หลุม ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.3 และ พด.7 และปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก
     มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น ปลูกพืชปุ๋ยสด ปลูกพืชคลุมดิน วัสดุคลุมดิน ปลูกพืชแซม      จัดระบบการชลประทานและระบบการให้น้ำในพื้นที่ปลูก
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...