m29
ดินทรายที่มีชั้นดานอินทรีย์ พบในพื้นที่ดอนเขตดินชื้น
(กลุ่มชุดดินที่ 42)
           
ชุดดินบ้านทอน
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินที่มีเนื้อดินเป็นดินทรายจัด เกิดจากตะกอนทรายชายทะเล พบบริเวณหาดทรายเก่าหรือสันทรายชายทะเล สภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงเป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยในเขตที่มีฝนตกชุก เนื้อดินเป็นดินทราย หรือดินทรายปนดินร่วน ดินบนมีสีน้ำตาลหรือสีเทาแก่ มีการระบายน้ำดี ถัดลงไปเป็นชั้นทรายสีขาว ที่วางทับอยู่เหนือชั้นดินสีดำ น้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลปนแดง ซึ่งเป็นชั้นที่มีการสะสมพวกอินทรียวัตถุ ฮิวมัสและเหล็กและมีการอัดตัวแน่นเป็นชั้นดานพบภายในความลึก 1 เมตร จากผิวหน้าดิน มีการระบายน้ำดีปานกลางหรือค่อนข้างเลว ดินล่างถัดไปมีจุดประสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเทาปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกรดจัด มีความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำ
 
     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินบ้านทอน (Bh)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    เนื้อดินเป็นทรายจัด มีชั้นดานอินทรีย์อยู่ในดินชั้นล่าง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก ความสามารถในอุ้มน้ำและดูดซับธาตุอาหารต่ำ มักขาดแคลนน้ำนาน และในช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำท่วมขังได้ง่าย
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     กลุ่มดินนี้เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
     ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชทั่วไป มีพืชน้อยชนิดที่สามารถขึ้นได้และให้ผลผลิตเพียงระดับปานกลาง เช่น มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
    การปลูกพืชไร่ หรือพืชผัก
     เลือกชนิดพืชที่ใช้ปลูกให้เหมาะสมกับศักยภาพของดินและทนแล้ง
     เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน โดยไถคลุกเคล้าปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หรือใส่วัสดุปรับปรุงดินพวกเปลือกถั่วลิสง แกลบ เศษพืชแล้วพรวนกลบ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า หรือปอเทือง ไถกลบหลังปลูก 50-70 วัน หรือเมื่อพืชออกดอกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืช เพื่อเพิ่มความสามารถของดินในการดูดซับน้ำและธาตุอาหาร
     ปลูกพืชคลุมดิน หรือใช้วัสดุคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน และทำร่องระบายน้ำในแปลงเพื่อช่วยลดการแช่ขังของน้ำในช่วงที่มีฝนตกหนัก
     ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ พด. 2 และปุ๋ยเคมีในอัตราที่เหมาะสม และควรใส่ปุ๋ยเคมีครั้งละน้อย ๆ แต่ใส่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารพืชไปก่อนที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์
     พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานและจัดระบบการให้น้ำในแปลงปลูกให้เหมาะสม เช่น ระบบน้ำหยด หรือแบบฝนเทียม
 
     การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้น
     เตรียมหลุมปลูกขนาด 75x75x75 ซม. และทำลายชั้นดานอินทรีย์ เพื่อลดระดับน้ำใต้ดินและการแช่ขังน้ำที่ผิวดิน ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยอินทรีย์วัตถุ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 25-50 กก./หลุม หรือมากกว่า
     ใช้ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ พด. 2 และผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.3 และ พด.7
มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ปลูกพืชปุ๋ยสด ปลูกพืชคลุมดิน วัสดุคลุมดิน ปลูกพืชแซม สร้างคันดิน ทำแนวรั้วหญ้าแฝก
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...