m28
ดินร่วนลึกมาก พบในพื้นที่ดอนเขตดินชื้น
(กลุ่มชุดดินที่ 34, 39, 60)
           
ชุดดินทุ่งหว้า
ชุดดินฝั่งแดง
ชุดดินควนกาหลง
ชุดดินคลองนกกระทุง
ชุดดินคอหงษ์
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินร่วนหยาบถึงดินร่วนละเอียดปนทรายลึกมากที่เกิดจากการสลายตัวของหินเนื้อหยาบหรือตะกอนน้ำ พบในเขตที่มีฝนตกชุก สภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงเป็นลูกคลื่นลอนชัน เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียวปนทราย สีดินเป็นสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีแดง และอาจพบจุดประสีเหลือง สีน้ำตาลหรือสีเทาในดินล่าง การระบายน้ำดีถึงดีปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นด่างเล็กน้อย

     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินฉลอง (Chl) ชุดดินฝั่งแดง (Fd) ชุดดินควนกาหลง (Kkl) ชุดดินคลองท่อม (Km) ชุดดินคลองนกกระทุง (Knk) ชุดดินละหาน (Lh) ชุดดินนาท่าม (Ntm) ชุดดินท่าแซะ (Te) ชุดดินคอหงษ์ (Kh) ชุดดินนาทวี (Nat) ชุดดินสะเดา (Sd) และชุดดินทุ่งหว้า (Tg) ดินตะกอนน้ำเชิงซ้อนที่มีการระบายน้ำดี (AC-wd: Alluvial Complex, well drained)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    เนื้อดินเป็นทราย ความสามารถในการอุ้มน้ำและดูดซับธาตุอาหารต่ำ มักขาดแคลนน้ำในระยะที่ฝนทิ้งช่วงนาน ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ในพื้นที่ที่มีความลาดชันมีความเสี่ยงต่อการถูกชะล้างพังทลายสูญเสียหน้าดินได้ง่าย
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมในการปลูกไม้ผล ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ยืนต้น และพืชไร่ รวมทั้งสามารถพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ด้วย แต่มีข้อจำกัดเล็กน้อย เนื่องจากเป็นดินปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และเกิดการชะล้างสูยเสียหน้าดินในพื้นที่ลาดชัน
     ไม่เหมาะสำหรับการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่ราบเรียบ ดินมีการระบายน้ำดี ทำให้ยากต่อการกักเก็บน้ำ
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
    การปลูกพืชไร่ หรือพืชผัก
     ควรเลือกพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ ที่มีความลาดชันน้อยกว่า 12 % และจัดระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยให้มีการปลูกพืชบำรุงดินร่วมอยู่ด้วย
     ในบริเวณที่ลาดชันมาก ควรไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับ และปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบ โดยหว่านเมล็ดถั่วพร้าอัตรา 8-10 กก./ไร่ เมล็ดถั่วพุ่มอัตรา 6-8 กก./ไร่ หรือปอเทือง อัตรา 4-6 กก./ไร่ ไถกลบระยะออกดอก ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืชไร่ หรือพืชผัก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชปลูก
     มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม เช่น ปลูกพืชปุ๋ยสด ปลูกพืชคลุมดิน วัสดุคลุมดิน ปลูกพืชแซม สร้างคันดิน ทำแนวรั้วหญ้าแฝก การทำฐานเฉพาะต้น เป็นต้น
     พัฒนาแหล่งน้ำ จัดระบบการชลประทานและระบบการให้น้ำในพื้นที่ปลูก
 
     การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้น
     ขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 20-35 กก./หลุม ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชปลูก ในช่วงการเจริญเติบโต ก่อน และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต
     จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น ปลูกพืชปุ๋ยสด ปลูกพืชคลุมดิน วัสดุคลุมดิน ปลูกพืชแซม สร้างคันดิน การทำขั้นบันได การทำคูรับน้ำขอบเขา ทำแนวรั้วหญ้าแฝก การทำฐานเฉพาะต้น พร้อมทั้งจัดระบบการให้น้ำในพื้นที่ปลูก
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...