m26
ดินเหนียวลึกมาก พบในพื้นที่ดอนเขตดินชื้น
(กลุ่มชุดดินที่ 26, 27)
           
ชุดดินกระบี่
ชุดดินโคกกลอย
ชุดดินลำภูรา
ชุดดินท้ายเหมือง
ชุดดินอ่าวลึก
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินเหนียวลึกถึงลึกมาก ที่เกิดจากตะกอนน้ำหรือวัตถุต้นกำเนิดดินที่สลายตัวมาจากหินเนื้อละเอียด หรือหินเนื้อหยาบที่มีอนุภาคดินเหนียวสูง พบในเขตที่มีฝนตกชุก มีสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงเป็นลูกคลื่นลอนชัน เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียว หรือดินเหนียวที่ค่อนข้างร่วนซุย มีโครงสร้างดี มีการระบายน้ำดีถึงดีปานกลาง ดินบนมีสีน้ำตาล ดินล่างมีสีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีแดง ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดปานกลาง
ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินอ่าวลึก (Ak) ชุดดินห้วยโป่ง (Hp) ชุดดินกระบี่ (Kbi) ชุดดินโคกกลอย (Koi) ชุดดินลำภูรา (Ll)
 
     ชุดดินปากจั่น (Pac) ชุดดินพังงา (Pga) ชุดดินภูเก็ต (Pk) ชุดดินปะทิว (Ptu) ชุดดินท้ายเหมือง (Tim) ชุดดินหนองบอน (Nb) และชุดดินท่าใหม่ (Ti)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายมีการซาบซึมน้ำเร็ว มักเกิดการขาดแคลนน้ำได้ง่ายในระยะที่ฝนทิ้งช่วงนาน ในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มีความเสี่ยงต่อการเกิดการชะล้างพังทลายสูญเสียหน้าดินได้ง่าย ถ้ามีการจัดการดินที่ไม่เหมาะสม
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก และทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่มีข้อจำกัดบ้าง เนื่องจากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
     ไม่เหมาะสมในการทำนา เนื่องจากสภาพพื้นไม่ราบเรียบ และการระบายน้ำดี ทำให้ยากต่อการกักเก็บน้ำ
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
    การปลูกพืชไร่ หรือพืชผัก
     ควรเลือกพื้นที่ที่มีความลาดชันน้อยกว่า 12 % และมีการจัดระบบการปลูกพืชแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยมีการปลูกพืชตระกูลถั่วหรือพืชบำรุงดินร่วมอยู่ด้วย
     ไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับ และมีการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด เช่น ถั่วพุ่ม ปอเทือง โดยหว่านเมล็ดถั่วพร้าอัตรา 8-10 กก./ไร่ เมล็ดถั่วพุ่มอัตรา 6-8 กก./ไร่ หรือปอเทือง อัตรา 4-6 กก./ไร่ ไถกลบในระยะออกดอก ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืช เพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน และช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้นด้วย ถ้าดินเป็นกรดมาก ใช้ปูนขาวอัตรา 100-500 กก./ไร่ หว่านให้ทั่วแปลง แล้วไถกลบร่วมกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ก่อนปลูกพืช 7-14 วัน
     ใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่เหมาะสมตามชนิดพืชที่ปลูก มีการกำจัดวัชพืช โรคแมลง      จัดระบบการชลประทานและระบบการให้น้ำในพื้นที่ปลูก และควรมีการจัดระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ใช้วัสดุคลุมดิน ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชสลับเป็นแถบ การสร้างคันดิน การทำแนวรั้วหญ้าแฝก
 
     การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้น
     ขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม.
     ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 15-25 กก./หลุม และรองก้นหลุมด้วยวัสดุปูน อัตรา 0.5-1.0 กก./ไร่
     ใช้ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ พด. 2 และผลิตภัฑณ์สารเร่ง พด.3 และ พด.7
บริเวณพื้นที่ลาดชันสูง ควรมีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม เช่น ปลูกพืชปุ๋ยสด ปลูกพืชคลุมดิน วัสดุคลุมดิน ปลูกพืชแซม ทำแนวรั้วหญ้าแฝก การทำฐานเฉพาะต้น
     จัดระบบการชลประทานและระบบการให้น้ำในพื้นที่ปลูก
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...