m14
ดินพรุหรือที่มีชั้นดินอินทรีย์หนามากกว่า 40 ซม.จากผิวดิน พบในพื้นที่ลุ่ม
( กลุ่มชุดดินที่ 57, 58)
           
ชุดดินกาบแดง
ชุดดินนราธิวาส
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     เป็นกลุ่มดินอินทรีย์ ซึ่งเกิดจากการสะสมเศษซากเหลือของพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำขัง หรือพื้นที่พรุ ลักษณะดินประกอบด้วยชั้นอินทรีย์หนามากกว่า 40 ซม. จนถึงมากกว่า 100 ซม. จากผิวดิน เนื้อดินเป็นดินอินทรีย์ที่มีระดับการสลายตัวตั้งแต่สลายตัวน้อยถึงมีการสลายตัวปานกลาง ดินสีดำหรือสีน้ำตาล ใต้ชั้นดินอินทรีย์ลงไปจะมีชั้นตะกอนน้ำทะเลสีเทาปนน้ำเงิน ที่มีศักยภาพก่อให้เกิดเป็นดินกรดกำมะถัน มักมีน้ำแช่ขังเกือบตลอดทั้งปี ดินมีการระบายน้ำเลวมาก ความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกลาง เมื่อถูกทำให้แห้งจะเป็นกรดจัดมาก

     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินกาบแดง (Kd) และชุดดินนราธิวาส (Nw)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    พื้นที่เป็นแอ่งต่ำที่มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดทั้งปี เนื้อดินเป็นเศษชิ้นส่วนของพืชที่มีอัตราการสลายตัวน้อยสะสมเป็นชั้นหนา เมื่อมีการระบายน้ำออกดินแห้งจะเกิดการยุบตัวมาก ทำให้พืชที่ปลูกล้มง่าย ติดไฟง่าย และดับยาก
     ดินเป็นกรดจัดมาก คุณภาพน้ำเป็นกรดจัด และขาดแคลนแหล่งน้ำจืด
     ความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง แต่อยู่ในสภาพที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ มีธาตุบางตัวมากเกินไปจนเป็นพิษต่อพืชที่ปลูก เช่น เหล็ก และอะลูมินั่ม และขาดธาตุอาหารรองอย่างรุนแรง เช่น โบรอน สังกะสี ทองแดง และโมลิบดินัม
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชทั่วไป แต่ถ้าจำเป็นต้องนำมาใช้ทำการเกษตรก็ควรมีการศึกษาสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ แหล่งน้ำชลประทาน แหล่งวัสดุปรับปรุงดิน ชนิดพืชที่ปลูกและวิธีการจัดการที่เหมาะสม
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
     ปลูกข้าว

     เลือกพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำจืดบริเวณขอบพรุ และมีชั้นวัสดุอินทรีย์หนาน้อยกว่า 100 ซม.จากผิวดิน
มีแนวป้องกันน้ำท่วมร่วมกับคลองระบายน้ำ และคลองส่งน้ำในระบบที่สามารถป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมได้ และควรมีระบบการให้น้ำและการระบายน้ำแยกส่วนกัน เพื่อป้องกันน้ำที่เป็นกรดรุนแรงกลับเข้ามาใช้อีก
เตรียมแปลงปลูก โดยใช้เครื่องจักรกลขนาดเบา เช่น รถไถเดินตาม หรือแรงคนขุดด้วยจอบ      ควรปล่อยให้มีน้ำขังในพื้นที่ทั้งก่อนและหลังปลูก เพื่อควบคุมไม่ให้ดินเกิดกรดเพิ่มขึ้น และมีการถ่ายน้ำออกก่อนปลูกเมื่อน้ำเป็นกรดจัดมาก ปรับปรุงสภาพความเป็นกรดในดินโดย หว่านวัสดุปูน เช่น หินปูนฝุ่นอัตรา 1.5-2.0 ตัน/ไร่
     ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ที่ทนต่อสภาพความเป็นกรดของดิน เช่น ลูกแดง ขาวตาหยก ไข่มด ดอนทราย ลูกเหลือง หมออรุณ กข 13 กข 19 กข 21 และ กข 27 เป็นต้น ในการปักดำข้าวควรใช้ต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 25-30 วัน จำนวน 3-5 ต้น/กอ ให้มีระยะปลูก 25x25 ซม.ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 15-20 กก./ไร่ ในระยะปักดำ และหลังจากปักดำแล้ว 30-40 วัน
 
     ปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น

     มีแนวป้องกันน้ำท่วม ยกร่องให้มีสันร่องกว้างตามชนิดพืชที่ปลูก ร่องคูกว้าง 1.0-1.5 เมตร ลึก 0.5-7.5 เมตร มีการควบคุมระดับใต้ดินให้คงที่ เพื่อป้องกันการเกิดกรดของดินเพิ่มขึ้น มีระบบการระบายน้ำ และคลองส่งน้ำในระบบที่สามารถป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมได้
     ปรับสภาพความเป็นกรดในดิน และเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร โดยไถคลุกเคล้าวัสดุปูน หินปูนฝุ่นอัตรา 2.5-3.0 ตัน/ไร่ ให้ทั่วบนสันร่อง และหว่านในร่องคูน้ำ
     สำหรับการปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้น ควรขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. พร้อมปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยปมัก อัตรา 25 กก. ผสมกับร็อคฟอสเฟต 250 กรัม/หลุม มีการพูนโคนอยู่เป็นประจำเมื่อรากลอยโผล่ผิวดิน
     ใส่ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก และเมื่อดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น ปรับปรุงดินด้วยการใช้วัสดุปูน เช่น หินปูนฝุ่นอัตรา 2.5-3.0 ตัน/ไร่ หรือปูนขาว 1.6 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วบนสันร่อง และในคูน้ำ
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...