m13
ดินตื้นที่มีก้อนกรวดหรือลูกรังมากภายในความลึก 50 ซม.จากผิวดิน พบในพื้นที่ลุ่ม
( กลุ่มชุดดินที่ 25)
           
ชุดดินกันตัง
ชุดดินย่านตาขาว
ชุดดินอ้น
ชุดดินพะยอมงาม
ชุดดินเพ็ญ
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินตื้นหรือตื้นมาก เกิดจากตะกอนน้ำที่ถูกเคลื่อนย้ายมาทับถมบนชั้นลูกรัง ก้อนกรวด หรือเศษหิน พบในสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบตามลานตะพักลำน้ำระดับต่ำและระดับกลาง เนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินล่างเป็นหรือดินเหนียวหรือดินร่วนปนดินเหนียวที่มีลูกรังหรือก้อนกรวดปะปนในปริมาณมากภายในช่วงความลึก 50 ซม.จากผิวดิน การระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงเลว ดินบนสีน้ำตาล หรือสีเทา ดินล่างสีเทา มีจุดประสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีแดง มักพบศิลาแลงอ่อนในชั้นดินล่าง ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดปานกลางและมีน้ำท่วมขังนานในฤดูฝน
 
    ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินกันตัง (Kat) ชุดดินอ้น (On) ชุดดินเพ็ญ (Pn) ชุดดินพะยอมงาม (Pym) ชุดดินสะท้อน (Stn) ชุดดินทุ่งค่าย (Tuk) และชุดดินย่านตาขาว (Yk)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    ดินตื้น เป็นทราย มีชั้นลูกรังหรือศิลาแลงอยู่ตื้นและเป็นชั้นหนา เป็นอุปสรรคต่อการไถพรวนและการชอนไชของรากพืช ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ขาดแคลนน้ำนาน และมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว แต่มีข้อจำกัดปานกลางที่มีชั้นลูกรังหรือก้อนกรวดอยู่ตื้น
     ไม่เหมาะที่จะดัดแปลงพื้นที่เพื่อใช้ปลูกพืชไร่ พืชผัก หรือไม้ผลอย่างถาวร เนื่องจากเป็นดินตื้นและมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงในการดัดแปลงพื้นที่และปรับปรุงดิน
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
     ปลูกข้าว

     เลือกพื้นที่เพาะปลูกที่มีหน้าดินหนามากกว่า 25 ซม. และไม่มีก้อนกรวด ลูกรัง หรือเศษหินกระจัดกระจายอยู่ที่ผิวดินมาก
     เตรียมพื้นที่ปลูกโดย ไถกลบตอซัง หรือไถคลุกเคล้า ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 3-4 ตัน/ไร่ ปล่อยทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ก่อนปลูกข้าว หรือหว่านเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด โสนอัฟริกันหรือโสนอินเดียอัตรา 6-8 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วัน ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์ แล้วปลูกข้าว เลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสม เช่น ขาวตาหยก ไข่มุกรวงยาว หรือสีรวง เป็นต้น
     ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด. 2 ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-8 อัตรา 30-40 กก./ไร่ หรือ สูตร 16-20-0 อัตรา 25-40 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 5-7 กก./ไร่ ในช่วงปักดำ และใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 5-10 กก./ไร่ หลังปักดำ 35-40 วัน
     พัฒนาแหล่งน้ำและระบบการให้น้ำไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือใช้ทำนาครั้งที่ 2 ปลูกพืชไร่ พืชผักหรือพืชตระกูลถั่วหลังเก็บเกี่ยวข้าว
 
     ปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น
 
    ไม่ค่อยเหมาะสมที่จะดัดแปลงพื้นที่ เพื่อปลูกพืชไร่ พืชผักหรือไม้ผลอย่างถาวร เนื่องจากเป็นดินตื้นและมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรเลือกใช้พื้นที่มีหน้าดินหนามากกว่า 25 ซม. และปรับสภาพพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝนโดยการยกร่องแบบถาวร ให้มีสันร่องกว้าง 6-8 เมตร ตามชนิดพืชที่ปลูก โดยให้สันร่องสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมถึง หรือสร้างคันดินอัดแน่นล้อมรอบ มีคูระบายน้ำกว้าง 1-1.5 เมตร ลึก 0.5-1 เมตร (กรณีปลูกพืชไร่พืชผักเฉพาะช่วงก่อนหรือหลังปลูกข้าว ควรยกร่องแบบเตี้ยหรือทำร่องระบายน้ำระหว่างแปลง)
     ปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น การไถกลบพืชปุ๋ยสด ปอเทืองอัตรา 6-8 กก./ไร่ ถั่วพุ่มอัตรา 8-10 กก./ไร่ หรือถั่วพร้าอัตรา 10-12 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วันหลังปลูกหรือออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือไถกลบปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หรือใส่วัสดุปรับปรุงดิน เช่น แกลบ ขี้เลื่อย หรือกากน้ำตาล เป็นต้น
     ถ้าปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ควรขุดหลุมปลูกขนาด 75x75x75 ซม. ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยหน้าดินที่ไม่เศษหินหรือลูกรังร่วมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 35-50 กก./หลุมปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืช
     ใส่ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำพด.2 และผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด. 3 พด.7 และพัฒนาแหล่งน้ำไว้ใช้ในช่วงที่พืชขาดน้ำ
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...