m12
 ดินทรายลึกมาก พบในพื้นที่ลุ่ม
( กลุ่มชุดดินที่ 23, 24)
           
ชุดดินทรายขาว
ชุดดินวัลเปรียง
ชุดดินบ้านบึง
ชุดดินท่าอุเทน
ชุดดินอุบล
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินทรายลึกมาก ที่เกิดจากตะกอนลำน้ำเนื้อหยาบหรือตะกอนทรายชายทะเล พบในสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ บางพื้นที่มีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย เนื้อดินเป็นทรายหรือดินทรายปนดินร่วนที่หนามากกว่า 100 ซม.จากผิวดิน ดินบนสีน้ำตาลหรือสีเทา ดินล่างมีสีเทา มีจุดประสีน้ำตาลหรือสีเหลือง บางแห่งมีเปลือกหอยปะปนอยู่ในชั้นดินล่าง การระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงดีปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำถึงต่ำมาก ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกลางและมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน

     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินทรายขาว (Sak) ชุดดินวัลเปรียง (Wp) ชุดดินบ้านบึง (Bbg) ชุดดินท่าอุเทน (Tu) และชุดดินอุบล (Ub)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
   ดินทรายจัด มีความสามารถในการอุ้มน้ำและดูดซับธาตุอาหารต่ำมาก เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำนาน ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ในฤดูฝนมีน้ำขัง ทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมกับการทำนา แต่มีข้อจำกัดในการปลูกข้าวบ้าง เนื่องจากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและขาดแคลนน้ำ
     ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักอื่นๆ เนื่องจากสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขังนานในฤดูฝน และมีเนื้อดินเป็นทรายจัด มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ต่ำ ทำให้พืชที่ปลูกมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และการพังทลายของคันดินปลูกพืช
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
     ปลูกข้าว
 
    ในพื้นที่ที่มีความลาดชันเล็กน้อย ควรมีการปรับรูปแปลงนา เพื่อให้มีสภาพพื้นที่ราบเรียบ สามารถกักเก็บน้ำได้สม่ำเสมอตลอดทั้งแปลงปลูกข้าว
     ปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน โดยการไถกลบตอซังข้าว ฟางข้าว หรือวัสดุปรับปรุงดิน เช่น แกลบ หรือไถคลุกเคล้าปุ๋ยอินทรีย์ เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 3-4 ตัน/ไร่ ไถกลบแล้วปล่อยไว้ 3-4 สัปดาห์ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น โสนอัฟริกันหรือโสนอินเดียแล้วไถกลบเมื่ออายุ 45-60 วัน ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์ แล้วปลูกข้าว
ควรใช้ข้าวพันธุ์เบา หรือพันธุ์ไม่ไวแสง หรือถ้าจะปลูกข้าวพันธุ์ไวแสง ควรเลือกปลูกพันธุ์ที่มีระยะเวลาการเจริญเติบโตจนถึงออกรวงประมาณ 120 วัน และต้นกล้าที่จะใช้ปักดำควรมีอายุ 25-30 วัน ใช้ระยะปลูกประมาณ 20 x 15 ซม. และต้นกล้า 3-5 ต้นต่อกอ
     การใช้ปุ๋ย      ครั้งที่ 1 รองพื้นด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 16-20-0 หรือ 18-22-0 หรือ20-2(เลือกสูตรใดสูตรหนึ่ง) อัตรา 35 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 7 กก.ไร่ ใส่ก่อนปักดำ 1 วันหรือใส่วันปักดำแล้วคราดกลบ
                     ครั้งที่ 2 แต่งหน้าด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมคลอไรด์ อัตรา 25 กก./ไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย 10-15 กก./ไร่ หรือถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก อาจแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง ครั้งแรกรองพื้นด้วยปุ๋ยยูเรีย 10-15 กก./ไร่ ในช่วงตกกล้า ครั้งที่ 2 ใช้สูตร 16-16-8 อัตรา 25 กก.ไร่ ใส่ระยะปักดำ และครั้งที่ 3 แต่งหน้าด้วยปุ๋ยยูเรีย อัตรา 6-10 กก. หลังปักดำ 35-45 วัน
     พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือใช้ปลูกพืชไร่ พืชผักหรือพืชตระกูลถั่วหลังเก็บเกี่ยวข้าว
 
     ปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น

     ปรับสภาพพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝนโดยการยกร่องแบบถาวร ให้มีสันร่องกว้าง 6-8 เมตร ตามชนิดพืชที่ปลูก โดยให้สันร่องสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมถึง หรือสร้างคันดินอัดแน่นล้อมรอบ มีคูระบายน้ำกว้าง 1-1.5 เมตร ลึก 0.5-1 เมตร (กรณีปลูกพืชไร่พืชผักเฉพาะช่วงก่อนหรือหลังปลูกข้าว ควรยกร่องแบบเตี้ยหรือทำร่องระบายน้ำระหว่างแปลง)
     ปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น การไถกลบพืชปุ๋ยสด ปอเทืองอัตรา 6-8 กก./ไร่ ถั่วพุ่มอัตรา 8-10 กก./ไร่ หรือถั่วพร้าอัตรา 10-12 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วันหลังปลูกหรือออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือไถกลบปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ถ้าปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ควรขุดหลุมปลูกขนาด 75x75x75 ซม. และปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 25-50 กก./หลุม ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืช เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดูดซับน้ำ ธาตุอาหารและเพิ่มผลผลิต ใส่ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำพด.2 และผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด. 3 พด.7
     เนื่องจากดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำและดูดซับธาตุอาหารต่ำมาก จึงควรใส่ปุ๋ยเคมีทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการสูญเสียลงไปในดินชั้นล่างก่อนที่พืชจะนำไปใช้ พัฒนาแหล่งน้ำและระบบการให้น้ำในแปลงปลูกพืช
ชนิดพืชทีปลูก เช่น มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ ปอแก้ว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฝ้าย และพืชตระกูลถั่วเป็นต้น
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...