m10
 ดินร่วนที่เกิดจากตะกอนน้ำ พบในพื้นที่ลุ่ม
( กลุ่มชุดดินที่ 17, 18, 19, 21, 22, 59)
           
ชุดดินสายบุรี
ชุดดินเขาย้อย
ชุดดินน้ำกระจาย
ชุดดินเรณู
ชุดดินสีทน
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียวปนทรายลึกมาก ที่เกิดจากตะกอนน้ำ พบในสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ ดินบนสีน้ำตาล น้ำตาลปนเทา หรือสีเทา ดินล่างสีเทาอ่อน มีจุดประสีน้ำตาล สีน้ำตาลปนเหลือง หรือสีแดง บางพื้นที่พบศิลาแลงอ่อน หรือก้อนสะสมของเหล็กและแมงกานีสในชั้นดินล่างนี้ การระบายน้ำเลวถึงค่อนข้างเลว ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นด่างเล็กน้อย และมักจะมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน

     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินบุณฑริก (Bt) ชุดดินสายบุรี (Bu) ชุดดินเขมราฐ (Kmr) ชุดดินโคกเคียน (Ko) ชุดดินหล่มเก่า (Lk) ชุดดินสุไหงปาดี (Pi) ชุดดินปากคม (Pkm) ชุดดินร้อยเอ็ด (Re) ชุดดินเรณู (Rn) ชุดดินสงขลา (Sng) ชุดดินวิสัย (Vi) ชุดดินชลบุรี (Cb) ชุดดินไชยา (Cya) ชุดดินโคกสำโรง (Ksr) ชุดดินเขาย้อย (Kyo) ชุดดินมะขาม (Mak) ชุดดินวิเชียรบุรี (Wb) ชุดดินเพชรบุรี (Pb) และชุดดินสรรพยา (Sa) ชุดดินน้ำกระจาย (Ni) ชุดดินสันทราย (Sai) ชุดดินสีทน (St) ดินตะกอนน้ำพาเชิงซ้อนที่มีการระบายน้ำเลว (AC-pd: Alluvial Complex, poorly drained)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    เนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย มีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ ความสามารถในการอุ้มน้ำและดูดซับธาตุอาหารค่อนข้างต่ำและมีสภาพแน่น ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
     มีความเสี่ยงต่อการมีน้ำไหลบ่าท่วมขังในฤดูฝน ทำความเสียหายให้กับพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง ในบริเวณที่สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มักเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำนาน
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมสำหรับการทำนา แต่มีข้อจำกัดสำหรับการปลูกข้าวบ้าง เนื่องจากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และบางพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในระยะฝนทิ้งช่วง
ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ยืนต้นและไม้ผล ได้รับอันตรายจากน้ำท่วมขังในฤดูฝน
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
     ปลูกข้าว

     ในพื้นที่ที่มีความลาดชันเล็กน้อย ควรมีการปรับรูปแปลงนาเพื่อให้มีสภาพพื้นที่ราบเรียบ สามารถกักเก็บน้ำสม่ำเสมอได้ตลอดทั้งแปลงปลูก
เพิ่มความร่วนซุยในดินโดยการไถกลบตอซัง หรือไถคลุกเคล้าปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ปล่อยทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบ โดยหว่านเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด โสนอัฟริกัน หรือโสนอินเดียอัตรา 4-6 กก./ไร่ แล้วไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วัน ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ แล้วจึงปลูกข้าว
ถ้าดินเป็นกรดจัดมาก ปรับปรุงโดยการไถคลุกเคล้าวัสดุปูน อัตรา 200-300 กก./ไร่
ปลูกข้าวไวแสง ครั้งที่ 1 ใช้ปุ๋ยสูตร 10-20-0 หรือ 20-20-0 หรือ 8-12-6 สูตรใดสูตรหนึ่ง อัตรา 20 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 7 กก./ไร่ หรือใช้สูตร 16-16-8 อัตรา 20-30 กก./ไร่ ในระยะปักดำ ครั้งที่ 2 แต่งหน้าด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมคลอไรด์ อัตรา 12 กก./ไร่ หรือยูเรีย อัตรา 6 กก./ไร่
ปลูกข้าวไม่ไวแสง ครั้งที่ 1 ใช้ปุ๋ยสูตร 10-20-0 หรือ 20-20-0 หรือ 8-12-6 สูตรใดสูตรหนึ่ง อัตรา 35 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 7 กก./ไร่ หรือใช้สูตร 16-16-8 อัตรา 25-35 กก./ไร่ ในระยะปักดำ ครั้งที่ 2 แต่งหน้าด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมคลอไรด์ อัตรา 12 กก./ไร่ หรือยูเรีย อัตรา 10-15 กก./ไร่ หลังปักดำ 35-45 วัน
หรือแบ่งใส่ 3 ครั้ง เนื่องจากเนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย คือ ครั้งที่ 1 รองพื้นด้วยยูเรีย อัตรา 5-10 กก./ไร่ ในช่วงตกกล้า ครั้งที่ 2 รองพื้นด้วยปุ๋ยสูตร 16-16-8 หรือสูตรอื่นๆ ที่มีเนื้อปุ๋ยเท่าเทียมกัน อัตรา 25-30 กก./ไร่ ในระยะปักดำ และครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10-15 กก./ไร่ หลังปักดำ 35-45 วัน หรือในระยะที่ข้าวตั้งท้อง (สำหรับข้าวไม่ไวแสง ครั้งที่ 1 ใช้อัตรา 10-15 กก./ไร่ ครั้งที่ 2 ใช้อัตรา 20-25 กก./ไร่ ครั้งที่ 3 ใช้อัตรา 5-10 กก./ไร่)
พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือใช้ทำนาครั้งที่ 2 ปลูกพืชไร่ พืชผักหรือพืชตระกูลถั่วหลังเก็บเกี่ยวข้าว
 
     ปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น

     ปรับสภาพพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝนโดยการยกร่องแบบถาวร ให้มีสันร่องกว้าง 6-8 เมตร ตามชนิดพืชที่ปลูก โดยให้สันร่องสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมถึง หรือสร้างคันดินอัดแน่นล้อมรอบมีคูระบายน้ำกว้าง 1-1.5 เมตร ลึก 0.5-1 เมตร (กรณีปลูกพืชไร่พืชผักเฉพาะช่วงก่อนหรือหลังปลูกข้าว ควรยกร่องแบบเตี้ยหรือทำร่องระบายน้ำระหว่างแปลง)
ปรับปรุงบำรุงดินด้วยการไถกลบพืชปุ๋ยสด ปอเทืองอัตรา 4-6 กก./ไร่ ถั่วพุ่มอัตรา 6-8 กก./ไร่ หรือถั่วพร้าอัตรา 8-10 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วันหลังปลูกหรือออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือไถกลบปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ถ้าปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ควรขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. และปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 20-35 กก./หลุม
ถ้าดินเป็นกรดจัด ปรับปรุงด้วยการใช้วัสดุปูน 200-300 กก./ไร่ หรือ 0.5-1.0 กก./หลุม เพื่อลดความเป็นกรดและเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน
ใส่ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำพด.2 และผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด. 3 พด.7
พัฒนาแหล่งน้ำและระบบการให้น้ำในแปลงปลูกพืช
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...