m6
 ดินเหนียวที่มีปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดจัดมาก พบในพื้นที่ลุ่ม
(กลุ่มชุดดินที่ 6)
           
ชุดดินบางนารา
ชุดดินสุไหงโกลก
ชุดดินวังตง
ชุดดินปากท่อ
ชุดดินแกลง
ชุดดินคลองขุด
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
     ดินเหนียวลึกมากที่เกิดจากตะกอนลำน้ำ พบในสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ เนื้อดินเป็นดินเหนียว มีการระบายน้ำเลวถึงค่อนข้างเลว ดินบนสีเทาแก่ ดินล่างมีสีเทาหรือน้ำตาลปนเทา มีจุดประสีน้ำตาล หรือแดงตลอดชั้นดิน บางแห่งพบศิลาแลงอ่อน หรือก้อนสารเคมีสะสมของพวกเหล็กหรือแมงกานีสปะปนอยู่ด้วย ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำถึงปานกลาง ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดจัด และมักมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน

     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินบางนารา (Ba) ชุดดินเชียงราย (Cr) ชุดดินสุไหงโกลก (Gk) ชุดดินแกลง (Kl) ชุดดินคลองขุด (Kut) ชุดดินมโนรมย์ (Mn) ชุดดินนครพนม (Nn) ชุดดินปากท่อ (Pth) ชุดดินพะวง (Paw) ชุดดินพัทลุง (Ptl) ชุดดินสตูล (Stu) ชุดดินท่าศาลา (Tsl) และชุดดินวังตง (Wat)

 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
    ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ บางพื้นที่ดินเป็นกรดจัดมาก มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และการมีน้ำไหลบ่าท่วมขังในฤดูฝนทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
    ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมที่จะใช้ทำนาในช่วงฤดูฝน และถ้ามีแหล่งน้ำเพียงพอหรืออยู่ในเขตชลประทาน สามารถปลูกพืชไร่ พืชผัก หรือพืชอื่นๆที่มีอายุสั้น เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง อ้อย ในช่วงฤดูแล้งหรือหลังเก็บเกี่ยวข้าวได้
     สภาพโดยธรรมชาติไม่เหมาะสมสำหรับ การปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผักต่างๆ แต่หากต้องต้องการนำมาใช้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยการยกร่อง มีระบบป้องกันน้ำท่วม ปรับปรุงดิน และปรับปรุงวัสดุปูนเล็กน้อยสำหรับพืชที่ไม่ชอบดินกรด
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
     ปลูกข้าว

    เตรียมพื้นที่ปลูกโดยไถพรวนขณะที่ดินมีความชื้นที่เหมาะสม ปรับปรุงบำรุงดิน โดยไถกลบตอซัง หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด (หว่านโสนอัฟริกันหรือโสนอินเดีย 4-6 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วัน) ปล่อยทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ก่อนปลูกข้าว หรือปรับปรุงดินโดยการไถกลบปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กก./ไร่ ถ้าดินเป็นกรดจัดมากควรหว่านวัสดุปูน อัตรา 200-300 กก./ไร่ แล้วไถคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน เพื่อลดความเป็นกรดในดิน
     ใช้พันธุ์ข้าวที่แนะนำ เช่น ขาวตาหยก ไข่มุก สีรวง ลูกเหลือง ขาวดอกมะลิ105 กข 7 กข 13 สุพรรณบุรี 90 หรือเล็บมือนาง เป็นต้น ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 อัตรา 25-40 กก./ไร่ ในระยะปักดำ และใช้ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 5-10 กก./ไร่ หลังปักดำ 35–45 วัน หรือในระยะกำเนิดช่อดอก
     พัฒนาแหล่งน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือทำนาครั้งที่ 2 หรือใช้ปลูกพืชไร่หรือพืชผักหลังเก็บเกี่ยวข้าว
 
     ปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น

    กรณีปลูกพืชไร่พืชผักเฉพาะช่วงฤดูแล้งหรือหลังปลูกข้าว ควรยกร่องแบบเตี้ยหรือทำร่องระบายน้ำระหว่างแปลงเพื่อช่วยระบายน้ำ แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่นามาปลูกพืชไร่แบบถาวร จะต้องปรับสภาพพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝนโดย ยกร่องแบบถาวรให้มีสันร่องกว้าง 6-8 เมตร ตามชนิดพืชที่ปลูก โดยให้สันร่องสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมถึง มีคูระบายน้ำกว้าง 1-1.5 เมตร ลึก 0.5-1 เมตร หรือสร้างคันดินอัดแน่นล้อมรอบพื้นที่
     ปรับปรุงบำรุงดินด้วยการไถกลบพืชปุ๋ยสด ปอเทืองอัตรา 4-6 กก./ไร่ ถั่วพุ่มอัตรา 6-8 กก./ไร่ หรือถั่วพร้าอัตรา 8-10 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วันหลังปลูกหรือออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือไถกลบปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกอัตรา 1-2 ตัน/ไร่ ถ้าปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ควรขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. และปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 15-25 กก./หลุม แก้ไขสภาพความเป็นกรดในดินด้วยการใส่วัสดุปูน อัตรา 200-300 กก./ไร่ หรือ 0.5-1.0 กก./หลุม
     ใส่ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำพด.2 และผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด. 3 พด.7 ร่วมกับการใช้วัสดุปูน ถ้าดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น
     พัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงที่พืชขาดน้ำ
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...