m5
ดินเหนียวที่มีปฏิกิริยาดินเป็นกลางถึงเป็นด่าง พบในพื้นที่ลุ่ม
( กลุ่มชุดดินที่ 3, 4, 5, 7)
           
ชุดดินละงู
ชุดดินราชบุรี
ชุดดินระโนด
ชุดดินศรีสงคราม
ชุดดินหางดง
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 
    เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียวลึกถึงลึกมากที่เกิดจากตะกอนน้ำ พบในสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ เนื้อดินเป็นดินเหนียว ดินบนมีสีเทา น้ำตาลปนเทา หรือน้ำตาล ดินล่างมีสีเทา มีจุดประสีน้ำตาล สีน้ำตาลปนเหลือง สีเหลืองหรือสีแดงของศิลาแลงอ่อน อาจพบเปลือกหอยหรือปูนปะปนอยู่ในดิน การระบายน้ำเลวถึงค่อนข้างเลว ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงเป็นด่างเล็กน้อย ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำถึงปานกลาง ปฏิกิริยาดินเป็นกลางถึงเป็นด่างเล็กน้อยและมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน

     ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินบางกอก (Bk) ชุดดินบางเลน (Bl) ชุดดินบางแพ (Bph) ชุดดินฉะเชิงเทรา (Cc) ชุดดินสมุทรปราการ (Sm) ชุดดินบางมูลนาก (Ban) ชุดดินบางปะอิน (Bin) ชุดดินชัยนาท (Cn) ชุดดินชุมแสง (Cs) ชุดดินพิมาย (Pm) ชุดดินี (Rb) ชุดดินสระบุรี (Sb) ชุดดินสิงห์บุรี (Sin) ชุดดินศรีสงคราม (Ss) ชุดดินท่าพล (Tn) ชุดดินท่าเรือ (Tr) ชุดดินหางดง (Hd) ชุดดินละงู (Lgu) ชุดดินพาน (Ph)ชุดดินเดิมบาง (Db) ชุดดินน่าน (Na) ชุดดินนครปฐม (Np) ชุดดินผักกาด (Pat) ชุดดินสุโขทัย (Skt) ชุดดินท่าตูม (Tt) ชุดดินอุตรดิตถ์ (Utt) และชุดดินระโนด (Ran)
 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
     เป็นดินเหนียวที่มีโครงสร้างแน่นทึบ หน้าดินแห้งแข็งไถพรวนยาก ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำนาน เนื่องจากสภาพพื้นที่ค่อนข้างสูง และมักมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวในฤดูฝน ถ้าอยู่ในเขตชลประทาน หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถปลูกพืชไร่และพืชผักบางชนิดได้ ในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวหรือในฤดูแล้ง เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด อ้อย ฝ้าย เป็นต้น
     ไม่เหมาะที่จะปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เพราะมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน แต่สามารถเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์จากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักได้ ถ้ามีการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยการยกร่องและมีระบบป้องกันน้ำท่วม
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
     ปลูกข้าว

      เตรียมพื้นที่ โดยไถพรวนดินในขณะที่ดินมีความชื้นที่เหมาะสมที่ระดับความลึกแตกต่างกันไปในแต่ละปี เพื่อป้องกันการเกิดชั้นดานแข็งใต้ชั้นไถพรวน
     ปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ไถกลบตอซัง ปล่อยไว้ 3-4 สัปดาห์ หรือหว่านเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด โสนอัฟริกันหรือโสนอินเดียอัตรา 4-6 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วัน หรือไถกลบปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์แล้วปลูกข้าว
      ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.2 ร่วมกับปุ๋ยเคมี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่รองพื้นก่อนปักดำหรือวันปักดำแล้วคราดกลบ ครั้งที่ 2 ใส่หลังปลูก 35-45 วัน หรือระยะที่ข้าวกำลังตั้งท้อง
ข้าวไวแสง ครั้งที่ 1 ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 18-22-0 อัตรา 25-30 กก./ไร่ ครั้งที่ 2 แต่งหน้าด้วยปุ๋ยยูเรีย อัตรา 5-10 กก./ไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 10-20 กก./ไร่
ข้าวไม่ไวแสง ครั้งที่ 1 ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 18-22-0 อัตรา 25-35 กก./ไร่ ครั้งที่ 2 แต่งหน้าด้วยปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10-15 กก./ไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 20-30 กก./ไร่
พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือใช้ทำนาครั้งที่ 2 ปลูกพืชไร่ พืชผักหรือพืชตระกูลถั่วหลังเกี่ยวข้าว
 
     ปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น

     ปรับสภาพพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝนโดยการยกร่องแบบถาวร ให้มีสันร่องกว้าง 6-8 เมตร ตามชนิดพืชที่ปลูก โดยให้สันร่องสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมถึงหรือสร้างคันดินอัดแน่นล้อมรอบ มีคูระบายน้ำกว้าง 1-1.5 เมตร ลึก 0.5-1 เมตร (กรณีปลูกพืชไร่พืชผักเฉพาะช่วงก่อนหรือหลังปลูกข้าว ควรยกร่องแบบเตี้ยหรือทำร่องระบายน้ำระหว่างแปลง)
     ปรับปรุงดินด้วยการไถกลบพืชปุ๋ยสด ปอเทืองอัตรา 4-6 กก./ไร่ ถั่วพุ่มอัตรา 6-8 กก./ไร่ หรือถั่วพร้าอัตรา 8-10 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วันหลังปลูกหรือออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ร่วมกับการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกอัตรา 1-2 ตัน/ไร่ ก่อนปลูกพืช ถ้าปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ควรขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. และปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 15-25 กก./หลุม
     ใส่ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำพด.2 และผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด. 3 พด.7 และพัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงที่พืชขาดน้ำ
 
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...