m4
 ดินเปรี้ยวจัดระดับตื้น พบชั้นที่เป็นกรดรุนแรงภายใน 50 ซม. จากผิวดิน พบในพื้นที่ลุ่ม
( กลุ่มชุดดินที่ 9, 10)
           
ชุดดินชะอำ
ชุดดินเชียรใหญ่
ชุดดินมูโน๊ะ
ชุดดินองครักษ์
   
ลักษณะและสมบัติของดิน
 
 

     ดินเปรี้ยวจัดที่เกิดจากตะกอนผสมของตะกอนน้ำและตะกอนทะเล พบแพร่กระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มภาคกลางหรือพื้นที่ราบตามชายฝั่งทะเล เนื้อดินเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวจัด มีการระบายน้ำเลว ดินบนมีสีดำหรือสีเทา มีจุดประสีน้ำตาล สีเหลือง สีแดง ดินล่างมีสีเทาหรือเทาปนเขียว ลักษณะเด่นคือ จะพบจุดประสีเหลืองฟางข้าวของสารจาโรไซต์ หรือมีชั้นดินที่มีความเป็นกรดรุนแรง (pH น้อยกว่า 4.0) อยู่ในระดับตื้นกว่า 50 ซม.จากผิวดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดรุนแรงมาก มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ
สำหรับในบางพื้นที่ที่มีน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยท่วมถึงเป็นครั้งคราว อาจพบดินที่มีทั้งลักษณะของดินเปรี้ยวจัดระดับตื้นและเป็นดินเค็มที่มีการสะสมเกลือสูง ดินบนมีสีดำหรือสีเทาที่มีค่าความเป็นกรดรุนแรงมาก ส่วนดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินเลน มีค่าปฏิกิริยาดินเป็นกลางถึงเป็นด่างแก่ ในฤดูแล้งอาจจะมีคราบเกลือที่ผิวดินหน้า

     
ชุดดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชุดดินชะอำ (Ca) ชุดดินเชียรใหญ่ (Cyi) ชุดดินมูโน๊ะ (Mu) และชุดดินองครักษ์ (Ok)

 
สภาพปัญหา/ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
     ดินเป็นกรดรุนแรงมากหรือเป็นดินเปรี้ยวจัดภายในความลึก 50 ซม.จากผิวดิน เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารหรือบางส่วนถูกตรึงอยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อาจเกิดความเป็นพิษของเหล็กและอะลูมินัมที่รุนแรงในระดับตื้น คุณภาพน้ำเป็นกรดรุนแรงมาก ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรและใช้อุปโภคบริโภค
     โครงสร้างดินแน่นทึบ ดินแห้งแข็งและแตกระแหง ทำให้ไถพรวนยาก มักมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ
     บางพื้นที่เป็นทั้งดินเปรี้ยวและเค็ม มีเกลือสะสมสูงจนเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของพืช มีคราบเกลือกระจัดกระจายอยู่ตามผิวหน้าดินในช่วงหน้าแล้ง คุณภาพน้ำจะเค็ม ขาดแคลนแหล่งน้ำจืด
 
ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
 
 
     ดินในกลุ่มนี้เหมาะสมสำหรับการทำนามากกว่าปลูกพืชอย่างอื่น แต่ผลผลิตข้าวที่ได้ต่ำ เพราะเป็นดินเปรี้ยวจัดในระดับตื้น และบางพื้นที่เป็นดินเปรี้ยวจัดและเค็มจัด
     ไม่เหมาะสมสำหรับ การปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผักต่างๆ เนื่องจากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงดินสูง
 
แนวทางการจัดการดิน
 
 
     ปลูกข้าว

     เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินโดยการไถกลบตอซังข้าว หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด เช่น โสนอัฟริกันหรือโสนอินเดีย (หว่านเมล็ดพันธุ์ อัตรา 4-6 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วัน ปล่อยไว้ 1-2 สัปดาห์ แล้วปลูกข้าว) ร่วมกับการใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 25-30 กก./ไร่ ในระยะปักดำ และใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 5-10 กก./ไร่ หลังปักดำ 35-45 วัน
     ลดและควบคุมความเป็นกรดจัดมากของดินโดยการหว่านวัสดุปูน เช่น ปูนมาร์ล หรือหินปูนฝุ่น ในอัตรา 1-2 ตัน/ไร่ ให้ทั่วแปลงปลูกแล้วไถคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ปล่อยน้ำขังในพื้นที่ประมาณ 3 สัปดาห์แล้วระบายน้ำออกเพื่อชะล้างความเป็นกรดในดิน จากนั้นปล่อยน้ำขังอีกครั้งเพื่อทำเทือกปักดำ เลือกพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพความเป็นกรดในดินมาปลูก เช่น ขาวตาหยก ขาวลูกแดง สีรวง ดอนทราย ลูกเหลือง กข 7 กข 21 กข 23 ช่อนางเอื้อง เป็นต้น
     ในพื้นที่ที่มีดินเค็มจัดควรปล่อยน้ำแช่ขังและระบายน้ำออก 2-3 ครั้ง ก่อนปลูกข้าว
     พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานไว้ใช้ในช่วงที่ข้าวขาดน้ำหรือใช้ทำนาครั้งที่ 2 ปลูกพืชไร่ พืชผักหรือพืชตระกูลถั่วหลังเกี่ยวข้าว ใช้ล้างความเป็นกรดของดิน และควบคุมไม่ให้ดินกรดเพิ่มขึ้น
 
     ปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น

     ปรับสภาพพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝนโดยการยกร่องแบบถาวร ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากสภาพพื้นที่นามาปลูกพืชไร่แบบถาวร โดยให้มีสันร่องกว้าง 6-8 เมตร หรือตามชนิดพืชที่ปลูก มีร่องคูน้ำกว้าง 1.0-1.5 เมตร ลึกถึงชั้นดินเลนของตะกอนน้ำทะเล มีคันดินอัดแน่นล้อมรอบ แต่ถ้าปลูกพืชไร่พืชผักเฉพาะช่วงก่อนหรือหลังปลูกข้าว สามารถยกร่องแบบเตี้ยหรือทำร่องระบายน้ำระหว่างแปลง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการมีน้ำท่วมขัง
     ปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ เช่น ไถกลบพืชปุ๋ยสด ปอเทืองอัตรา 6-8 กก./ไร่ หรือถั่วพุ่มอัตรา 8-10 กก./ไร่ หรือถั่วพร้าอัตรา 10-12 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วันหลังปลูกหรือออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่
     ปรับสภาพความเป็นกรดในดินด้วยการคลุกเคล้าวัสดุปูน เช่น ปูนมาร์ล หินปูนฝุ่นหรือปูนขาวบนสันร่องและร่องคูน้ำ ในอัตรา 1-2 ตัน./ไร่ หรือ อัตรา 7 กก./หลุม คลุกเคล้าให้เข้ากับดินทิ้งไว้ประมาณ 15 วันก่อนปลูกพืช
     ถ้าปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ควรขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. และปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 25-50 กก./หลุม เพื่อเพิ่มความร่วนซุย และความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ถ้าดินมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นปรับปรุงด้วยวัสดุปูนอัตรา 1-2 ตัน/ไร่
     พัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงที่พืชขาดน้ำ ใช้ล้างความเป็นกรดในดิน และควบคุมไม่ให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น
 
 
     

ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
...สงวนลิขสิทธิ์...